สวัสดีครับทุกท่าน หนึ่งในคำถามที่ผมถูกถามบ่อยที่สุดเวลาไปคุยกับเด็กมัธยมฯ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ก็คือ สาขา Computer Science (วิทยาการคอมพิวเตอร์), Computer Engineering (วิศวกรรมคอมพิวเตอร์) และ Information Technology (เทคโนโลยีสารสนเทศ) มันเรียนแตกต่างกันอย่างไร ในฐานะที่เป็นคนทำงานทางสายงานคอมพิวเตอร์และมีความซาบซึ่งในด้านการศึกษาทางศาสตร์นี้ด้วย วันนี้จึงจะมาขอเล่าให้ฟังอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแบบที่จบในม้วนเดียว และปิดท้ายด้วยคำแนะนำสำหรับน้องๆ ที่กำลังจะเรียนทางสายนี้ว่า ควรจะเลือกเรียนอะไรดี โอเค เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า
นิยามของแต่ละสาขาตามทฤษฎี
วิทยาการคอมพิวเตอร์ (COMPUTER SCIENCE)
หลายๆ คนรวมถึงตัวผมด้วย อยากจะเรียกมันว่า วิทยาศาสตร์พิวเตอร์ อันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าทำไมเขาถึงแปลไทยมากันว่าเป็นวิทยาการ ซึ่งถ้ามีดูเรื่องคำ ก็จะเป็นว่ามันประกอบด้วยคำว่า วิทยาศาสตร์ และ คอมพิวเตอร์
แล้วทีนี้ คำว่าวิทยาศาสตร์ จริงๆ แล้วหมายความว่าอย่างไร?
วิทยาศาสตร์คือแขนงของสาขาวิชาที่ “ศึกษาการมีอยู่ธรรมชาติ ด้วยการพิสูจน์” แปลเข้าไปอีกก็คือ ธรรมชาติ คืออะไร ธรรมชาติคือสิ่งที่มีอยู่รอบตัวเรานั่นเอง แรงโน้มถ่วงก็มีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น เราไปศึกษาแรงโน้มถ่วงมันทำงานอย่างไร นั่นก็วิทยาศาสตร์ หรือเกลือที่เค็มๆ ทำไมมันเค็ม มันเกิดจากอะไร จะสังเคราะห์เกลือได้อย่างไร ไปจนกระทั่งวิชาคณิตศาสตร์ที่เราใช้คำนวณกัน นั่นก็ล้วนเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น
ดังนั้น Computer Science ก็คือการศึกษาธรรมชาติของคอมพิวเตอร์นั่นเอง คือคอมพิวเตอร์เนี่ยมันถูกสร้างขึ้นมา แล้วมันดันเป็นอุปกรณ์ที่สามารถเราไปประยุกต์ใช้งานพลิกแพลงได้มหาศาลมาก มันจึงมีการเรียนรู้เกี่ยวกับมันอย่างกว้างขวางอย่างที่เราเห็นกันอยู่
ทีนี้จะขอกล่าวถึงเวลาเราเขียนโปรแกรม ความจริงแล้วมันคือกระบวนการทางตรรกะ การคำนวณที่เป็นขั้นเป็นตอนนั่นเอง การทำงานซ้ำๆ เดิมๆ ที่เป็นขั้นเป็นตอนนี้มีศัพท์ที่สำคัญมากในวงการ ก็คือคำว่า Algorithm มันจะอยู่ในทุกที่ที่มีคอมพิวเตอร์ การที่เราจะสร้างโปรแกรมที่จะแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง เราก็ต้องคิด Algorithm ขึ้นมาแก้ (จากนั้นจึงไปเขียนโปรแกรม) ปรากฎว่าโลกใบนี้มันมีปัญหามากเหลือเกิน บางปัญหามันจำเป็นต้องใช้พลังการคำนวณมหาศาลจนบางครั้งเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ เหล่านี้แหละคือปัญหาที่จะต้องศึกษาเมื่อมาเรียน Computer Science
ขอยกอีกตัวอย่างที่ลึกลงไปอีก ข้ามได้นะถ้ารู้สึกยาก เป็นเรื่องของการส่งข้อความให้ปลอดภัยกันระหว่างคอมพิวเตอร์ ทุกคนคงรู้อยู่แล้วว่าคอมพิวเตอร์มันส่งข้อความหากันได้ ไม่งั้นเราคงไม่มีอินเทอร์เน็ตขึ้นมาใช้ ทีนี้ถ้าจะส่งข้อความจาก A ไปหา B จินตนาการว่าเป็นรหัสผ่านในการเข้าธนาคารออนไลน์ เราจะทำอย่างไรให้ปลอดภัย ก็ต้องในการเข้ารหัสข้อมูลก่อนจะส่งจาก A แล้วนาย B ได้รับไปก็ไปแกะใช่ไหม การเข้ารหัสนั่นก็เป็น Algorithm ตัวหนึ่ง มองมันเป็นแม่กุญแจ นั่นก็คือสิ่งที่อยู่ใน Computer Science เช่นกัน ต่อมาก็ต้องมีลูกกุญแจเอาไว้ถอดแม่กุญแจ สิ่งนั้นเรียกว่า Key ดังนั้น A กับ B จะต้องมีกุญแจดอกเดียวกัน ถึงจะเข้ารหัสและถอดรหัสข้อความได้ ทีนี้ถามว่า แล้วถ้า A กับ B ไม่เคยเจอกันมาก่อน แล้วจะมีกุญแจดอกเดียวกันได้อย่างไร ถ้าจะต้องหาทางมาเจอกันเพื่อส่ง Flash Drive ไปให้ มันก็ไม่ใช่เรื่องใช่ไหม มันก็ต้องส่งผ่านทางเครือข่ายนั่นแหละ แต่ถ้าส่งกุญแจโดยไม่เข้ารหัส ถ้ามีคนมาดักตรงกลาง Man-in-the-middle (MITM) มันก็จะขโมยกุญแจไปเก็บเอาไว้ได้ เมื่อไหร่ที่มีการส่งข้อความกัน ไอ้คนนั้นมันก็จะถอดรหัสได้หมดด้วยเช่นกัน ข้อความก็จะไม่ปลอดภัย ดังนั้นการส่งกุญแจจึงต้องใช้กระบวนการพิเศษที่เรียกว่า การเข้ารหัสด้วยการใช้ Public/Private Key ซึ่งเกิดจากกระบวนการท่ายากบางอย่างทางคณิตศาสตร์ (เช่นการหารหาเศษ) ทำให้ข้อความที่เข้ารหัสด้วย Public Key จะต้องถอดรหัสด้วย Private Key เท่านั้น ทีนี้ A และ B ก็สร้างคู่ของ Public/Private Key ของตัวเองเอาไว้ เสร็จแล้วก็ส่ง Public Key ไปให้อีกฝั่งเพื่อให้เขาใช้เข้ารหัสก่อนส่งข้อมูลมาให้ เวลา A จะส่งข้อความให้ B ก็เอา Public Key ของ B มาเข้ารหัส ดังนั้นคนที่จะถอดรหัสได้ก็จะมีเฉพาะ B เท่านั้น เพราะ B เป็นคนเฉพาะ Private Key แต่เพียงผู้เดียว (จะเอากันจริงๆ ก็จะมีปัญหาเรื่องจะส่ง Public Key อย่างไรให้ปลอดภัยอีก ซึ่งก็จะมีสถาปัตยกรรมที่ชื่อว่า PKI มาแก้ปัญหา ทำให้ทุกวันนี้เราเข้าเว็บ HTTPS ได้อย่างปลอดภัย “แทบจะ” หายห่วง) นี่ก็คือศาสตร์ของ Computer Science เช่นกัน
ซึ่งถ้าอ่านๆ ดูจะเห็นว่ามันมีความสัมพันธ์กับคณิตศาสตร์สูงมาก และนั่นก็คือความจริง คนที่จะเรียน Computer Science ควรจะมีพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่ดี มีการพิสูจน์ การคำนวณมากมาย เพื่อค้นหากระบวนการ วิธีการใหม่ๆ ที่เราจะสามารถให้คอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณให้เราได้นั่นเอง มองๆ ดูก็จะเห็นว่า Computer Scientist ก็ไม่ต่างจากนักวิจัยของสาขาวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่มีการตั้งโจทย์ที่สนใจจะแก้ ตั้งสมมุติฐาน และลองคำนวณจนไปถึงเขียนโปรแกรมขึ้นมาพิสูจน์ว่า สิ่งที่คิดนั้น ถูกต้องหรือไม่อย่างไร ศาสตร์นี้กว้างมาก พวก AI, Machine Learning ที่กำลังฮิตๆ ความจริงก็อยู่ในนี้แหละ
วิชาที่ค่อนข้างจะใช้เยอะ (แต่ไม่จำกัดแค่นี้นะ) ในการเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ก็จะเป็นพวก Mathematics, Algorithm, Data Structure, Programming, Research Operation
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (COMPUTER ENGINEERING)
ต่อมาเป็นสาขายอดฮิตของคนไทย ก็คือวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เริ่มจากแบ่งคำออกมา จะได้คำว่า วิศวกรรม และ คอมพิวเตอร์ คำว่า วิศวกรรม โดยความหมายที่เข้าใจได้นั้น มันคือการสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา ด้วยกระบวนการที่มีแบบแผนชัดเจน ดังนั้นก็จะเห็นว่า วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ก็คือการสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาโดยการใช้คอมพิวเตอร์นั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การทำงานก็จะเชื่อมต่อมาจากนัก Computer Science ที่ค้นพบกระบวนท่าวิธีใหม่ๆ ต่อมานัก Computer Engineering ก็จะเอาสิ่งเหล่านั้นมาประกอบกันสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาให้คนทั่วไปใช้งานได้นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ไปกระทั่งถึงโปรแกรมที่เราใช้ๆ กัน
ทีนี้อะไรคือการสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีขั้นตอนมีหลักการ อยากให้ลองจินตนาการไปถึงการสร้างตึกสัก 20 ชั้น จะเกิดอะไรขึ้นว่าวิศวกรไม่รู้ว่าตัวเองกำลังจะสร้างตึก 20 ชั้น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขาเอาเสาเข็มต้นเล็กๆ มาใช้ ไม่มีการเลือกใช้อิฐที่น้ำหนักน้อยมาใช้ และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขาไม่ได้คำนวณว่าโครงสร้างต่างๆ ที่ต่อขึ้นไปมันจะรับน้ำหนักได้เท่าไหร่ ถ้าใช้ของที่อ่อนไปราคาก็จะถูก แต่พอสร้างๆ ไป ปรากฏว่าโครงสร้างรับน้ำหนักไม่ไหว ตึกก็พัง แต่ถ้าไปใช้โครงสร้างที่ดีเกินจำเป็น ทีนี้ตึกอาจไม่พัง แต่ว่าใช้งบประมาณสร้างที่แพงเกินความจำเป็นไปไกล และนั่นล่ะครับเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจึงต้องรู้ก่อนว่ากำลังจะทำอะไร ขนาดเท่าไหร่ ต้องการความแข็งแรงขนาดไหน ควรใช้อุปกรณ์อะไร จึงจะเหมาะสมที่สุด และเหมาะสมกับงบประมาณ อ่อ การเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม ไม่ได้ใช้ของแพงที่สุด มันไม่ใช่การงกหรืออนาคตจะทำให้ต่อยอดไม่ได้ มันเป็นความเหมาะสมต่างหาก ถ้าเกิดเราอยากจะเผื่อ เราก็คำนวณเผื่อไปตั้งแต่ต้น มันก็จะดีกว่าการสร้างไปโดยไม่คิดถึงอะไรเลย
การสร้างตึกนั้นก็มีความคล้ายคลึงกับการพัฒนาซอฟแวร์หลายอย่างมาก การจะสร้างโปรแกรมขึ้นมาสักโปรแกรม ความจริงแล้วต้องใช้ความพยายามมหาศาลมาก หน้าตาโปรแกรม ปุ่มต่างๆ ที่กดได้ กดแล้วมันทำงานอะไร ช่องต่างๆ ที่มาให้กรอก ความเป็นจริงแล้วล้วนถูกออกแบบมาโดยสมองและหยาดเหงื่อของคนทั้งสิ้น คอมพิวเตอร์เป็นเพียงตัวแสดงผลออกมาให้ผู้ใช้ใช้งานได้ ทุกปุ่มที่ถูกวาง เกิดจาก Code ที่สั่งให้มันไปวางตรงนั้น การทำงานที่จะรันหลังจากกดปุ่ม ก็เกิดจากการคิด Algorithm และเขียนลงไปของโปรแกรมเมอร์ ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองได้ลอยๆ เราถึงได้เห็นว่าอาชีพโปรแกรมเมอร์เป็นที่ต้องการของตลาดมาก เพราะว่าตลาดต้องการพัฒนาโปรแกรม แต่โปรแกรมเมอร์ดีๆ ผลิตออกมาได้น้อย เพราะมันจำเป็นต้องอาศัยวิธีคิดแบบมีเหตุมีผลซึ่งหลักสูตรการศึกษาของประเทศของเราไม่ได้สอนให้เด็กคิดวิเคราะห์สังเคราะห์เองได้ แต่ไปเน้นพวกการท่องจำไปซะ เดี๋ยวๆ ออกนอกทะเลละ เรื่องนี้เดี๋ยวค่อยเล่าตอนจบ กลับมาที่การพัฒนาโปรแกรม ดังนั้นการจะออกแบบโปรแกรมจึงต้องมีการเลือกเครื่องมือ การวางโครงสร้างฐานข้อมูล การวางลำดับขั้นตอนในการทำงานร่วมกันในทีม เพื่อให้การพัฒนาโปรแกรมเป็นไปได้อย่างราบรื่น และนั่นคืองานของ Software Engineer ซึ่งความจริงแล้วอยู่ในสายวิศวกรรมคอมพิวเตอร์นั่นเอง
มาต่อกันอีกสักตัวอย่างเป็นเรื่องการสร้างหุ่นยนต์ต่างๆ อันนี้ความจริงแล้วอาศัยความรู้หลายสาขามาก ตั้งแต่วิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็ก แม็กคานิก และสุดท้ายก็คือวิศกรรมและวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยเด็กหลายๆ คนที่เรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ก็จะได้เรียนเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ให้มันเดินตามเส้นเอย ให้มันทำโน่นทำนี่เอย ซึ่งแทนที่จะต้องประกอบหุ่นยนต์ขึ้นมาใหม่ มันจะเป็นการที่ มีหุ่นยนต์พร้อมอยู่แล้ว มีมอเตอร์ มีเซ็นเซอร์ มีแผงวงจรพร้อมเขียนโปรแกรมลงไป หน้าที่ของเด็กๆ ก็คือ เขียนโปรแกรมลงไปดูสถานะของเซ็นเซอร์ว่าเกิดอะไรขึ้นในสภาพแวดล้อม แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์เดินตามเส้น มีเซ็นเซอร์ด้านซ้ายตัว ด้านขวาตัว ส่องดูสีพื้น ถ้าเดินๆ ไปแล้วเซ็นเซอร์รับแสงตัวรับแสงทางด้านซ้ายมีค่าเปลี่ยนเยอะ ในขณะที่ทางขวาเห็นพื้นปรกติ แปลว่าหุ่นกันลังเบ้ไปทางขวา ต้องลดรอบการทำงานของล้อขวา เพื่อให้หุ่นกลับมาหันอยู่ระหว่างเส้นนั่นเอง
จากที่อ่านๆ ก็จะเห็นว่ามันจะเป็นงานสร้างของขึ้นมาเป็นชิ้นๆ ใช้งานได้จริงซะมากกว่าการไปค้นคว้าวิจัยลึกๆ เป็นเรื่องๆ อย่าง Computer Science ซึ่งก็จะมีการใช้ทักษะการใช้เครื่องมือต่างๆ บนคอมพิวเตอร์ที่หลากหลายมากกว่า
วิชาที่ค่อนข้างจะใช้เยอะ (แต่ไม่จำกัดแค่นี้นะ) ในการเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ก็จะเป็นพวก Algorithm, Data Structure, Programming, Software Engineering
เทคโนโลยีสารสนเทศ (INFORMATION TECHNOLOGY)
สุดท้ายที่จะขอเล่าในที่นี้ก็คือสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT โดยสาขาวิชานี้ก็คือการนำเทคโนโลยีไปใช้กับสารสนเทศนั่นเอง แล้วสารสนเทศคืออะไร? สารสนเทศแปลภาษาอังกฤษก็คือ Information แปลกลับเป็นไทยอีกทีก็คือ ข้อมูล (Data) ที่มีผ่านการดำเนินการบางอย่างให้มีประโยชน์แล้วนั่นเอง คือยุคคอมพิวเตอร์เนี่ย เราเก็บข้อมูลกันบนคอมฯ ทีนี้เรามีการสื่อสารกันผ่านคอม มันสร้างข้อมูลกันเยอะแยะไปหมด คำถามก็คือ เราจะเอาไอ้ข้อมูลเหล่านั้นมีสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจได้อย่างไร นั่นคือแก่นของสิ่งที่สาขาวิชานี้จะสอน
หลายๆ คนก็จะเริ่มสับสนกับเรื่อง Data Science ละ ความเป็นจริงมันก็มีความเกี่ยวโยงกันแต่มันคนละเรื่องกัน คือสาขานี้เนี่ย ความจริงแล้วเกิดขึ้นมาเพื่อ Transform ระบบเก่าที่ใช้กระดาษใช้ปากกา ให้ขึ้นมาใช้คอมพิวเตอร์ แล้วก็ทำให้ข้อมูลที่บันทึกลงคอมพิวเตอร์เนี่ย เอาไปใช้ประโยชน์กับธุรกิจให้ได้ ซึ่งมันก็จะแตกต่างจากสองอันข้างบนตรงที่มันมีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วด้วยนั่นเอง คือถ้าจะให้วิจารณ์กันตรงๆ แล้วเนี่ย สองสาขาข้างบนเรียนรู้แต่วิชาการกันรัวๆ เลย สวนอันนี้เนี่ยเหมือนเรียนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับธุรกิจนั่นเอง ซึ่งหลักสูตรส่วนใหญ่ก็จะมีการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ไปจนถึงการทำธุรกิจให้เรียนด้วย และที่มักจะพิเศษกว่าสาขาอื่นๆ ก็คือ สาขานี้มักจะไฮโซมีตึกเก๋ๆ ของตัวเอง และมีหลักสูตรภาษาอังกฤษ (และค่าเทอมแพง) แต่มันเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะ 4 ปีที่คุณใช้ภาษาอังกฤษเรียนหนังสือ มันจะซึมซับและทำให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ทันทีหลังเรียนจบ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก
ส่วนเรื่องการเรียนก็จะมีความคล้ายกับการเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ทางด้านการเขียนโปรแกรม แต่เพิ่มเติมการทำธุรกิจเข้าไปด้วย ดังนั้นวิชาที่ใช้ก็จะเป็นการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ การจัดการบริหาร และการทำธุรกิจ
ที่เล่าไปทั้งหมดนั่นเป็นแค่ความฝัน!
กลับมาสู่โลกแห่งความจริง (อันเลวร้าย) เรื่องแรกที่ต้องยอมรับให้ได้ก่อนคือ..
อยากเก่งคอมพิวเตอร์ ต้องหมั่นเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่รอความรู้จากอาจารย์
ผมขอให้จำเรื่องนี้ไว้ให้ขึ้นใจ! ความจริงมันเป็นแบบนี้กับทุกสายแหละ แต่สายคอมพิวเตอร์นี้สำคัญที่สุด เพราะอะไร? เพราะความรู้สาขาคอมพิวเตอร์นี้ก้าวหน้าเร็วมาก ลองจินตนาการแบบนี้ ทุกวันนี้แทบทุกคนคงมีคอมพิวเตอร์กันหมดแล้ว แล้วคอมพิวเตอร์ก็เชื่อมต่อเข้าหากันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต ลองดูเว็บ Wikipedia ซิ ทำไมถึงมีข้อมูลความรู้แทบจะทุกเรื่องที่เราอยากรู้ มันก็เพราะไอ้คนที่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์เนี่ยแหละช่วยกันเขียนลงไป รู้ไหมว่าความจริงระบบปฎิบัติการไม่ได้มีแค่ Windows มันมี MacOS มีอะไรเยอะแยะไปหมด โดยเฉพาะ Linux ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่นักพัฒนาทั่วโลกช่วยกันพัฒนาผ่านทางอินเทอร์เน็ต ใช้งานกันได้ฟรี ถูกเอาไปต่อยอดใช้งานเป็น Android ถูกใช้งานรัน Server ต่างๆ ทั่วโลกมากมายมหาศาล นี่ก็อีกตัวอย่าง แล้วภาษาต่างๆ ก็เหมือนกัน มีการพัฒนาออกมาใหม่ๆ มากมาย โปรแกรมเมอร์ช่วยกันพัฒนาบนอินเทอร์เน็ต ตัวไหนรุ่งก็ช่วยกันดัน เอาออกมาใช้กัน เพียงเวลาแค่ 1-2 ปี มีโปรแกรมเมอร์ทั่วโลกมาเขียนเป็นหมื่นเป็นแสนคน นอกจากภาษาออกมาใหม่ ก็ยังจะมี Frameworks ที่ใช้สำหรับการพัฒนาโปรแกรมต่อยอดบนตัวมันขึ้นมาอีก เกิด บ. ไหน จะใช้อะไรกัน เขาเลือกมากันแล้ว คุณก็ต้องเขียนให้เป็น อาจจะไปนั่งเรียนเดือนสองเดือนกว่าจะพอรู้เรื่องรู้ราวใช้งานได้ แล้วมันเกิดแบบนี้อยู่ตลอดเวลา โปรแกรมเมอร์เป็นแสนๆ คนทั่วโลกช่วยกันสร้างแล้วแบ่งปันสิ่งใหม่ๆ กันตลอดเวลา แล้วคุณคิดดูซิว่า อาจารย์ตามมหาวิทยาลัยจะสามารถตามเทคโนโลยีพวกนี้ทันหรือไม่ อาจารย์ก็คงเข้าใจหลักการพื้นฐาน แต่จะให้ไป Coding ด้วย Frameworks ที่กำลังฮิต ผมว่ามีไม่กี่ท่านที่จะติดตามแล้วทำได้ เพราะอาจารย์ก็คนเหมือนเราเนี่ยแหละ จะไปตามมันทันทุกอย่างมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เราเนี่ยแหละต้องหาทางตัวเองให้เจอแล้วก็เรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าจะทำงานวิจัยตรงกับสายที่อาจารย์กำลังทำล่ะก็ ให้เข้าไปฝากตัวฝากใจกับอาจารย์เอาไว้เลย กรณีแบบนี้อาจารย์จะสำคัญสุดๆ
การเรียนในมหาวิทยาลัยมันเป็นการสอนพื้นฐานความรู้ สอนโลจิกวิธีคิด วิธีการออกแบบโปรแกรมต่างๆ ให้เราเข้าใจพื้นฐาน พอรู้งูๆ ปลาๆ ออกไปทำงานได้พูดกับพี่ๆ ที่เป็นหัวหน้าเขารู้เรื่อง แล้วค่อยไปเรียนจริงจังตอนออกไปทำงานโน่น ดังนั้นแล้วที่สำคัญที่สุดอย่างที่ได้กล่าวไปก็คือ ต้องขยันอ่านข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต ดูว่าโลกมันไปถึงไหนแล้ว รีบหาให้เจอว่าจริงๆ แล้วเราสนใจด้านไหนกันแน่ เราชอบทำงานวิจัย เราชอบออกแบบระบบ เราชอบเขียนโปรแกรม เราชอบทำหุ่นยนต์ หรือเราชอบอื่นๆ รีบหาให้เจอภายในปี 2 เข้าไปเรียนรีบหาโอกาสลองให้ครบ จากนั้นปี 3 เลือกวิชาให้ตรง ทีนี้อ่านข่าว อ่านบล็อก อ่านงานวิจัยต่างๆ ทางด้านที่ตัวเองสนใจอย่างต่อเนื่อง แล้วรีบสร้างผลงานออกมา ง่อยๆ เท่าที่ทำได้นั่นแหละ ไม่มีใครมาคาดหวังอะไรกับงานชิ้นแรกๆ ที่ทำหรอก ขอให้มันได้ทดลองทำได้ประสบการณ์ พอเราออกไปทำงานจริง ทีนี้เราก็จะอยู่เหนือคนอื่นละ
ซึ่งสังเกตดูว่าผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนมหาวิทยาลัยเลย! และมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าคุณทำได้ 4 อย่างนี้ ไม่ต้องจบมหาวิทยาลัยก็มีงานทำได้สบายๆ
- หาตัวเองให้เจอ
- ขยันพัฒนาตัวเองในสิ่งที่ชอบและถนัด
- สร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์
- ทำงานร่วมกับคนอื่นให้ได้
เพียงเท่านี้เนี่ย ถ้าไปคุยกับคนสายคอมฯ ที่ทำงานกันจริงๆ รับรองเขายินดีรับคุณเข้าทำงานโดยไม่ต้องมีใบปริญญาใดๆ แต่ต้องมั่นใจว่าไม่ได้หลงตัวเองนะ!
ไปมหาวิทยาลัยไม่ได้มีแต่เรียนหนังสือ
มหาวิทยาลัยฟังดูไร้ค่าในบทความก่อนหน้า จนกระทั่งมาพบว่า โลกความเป็นจริงแค่เขียนโปรแกรมเป็นไม่เพียงพอ แต่คุณต้องทำงานร่วมกับคนอื่นได้ด้วย!
โอเคแหละ ถ้าคุณจะเก่งระดับเทพทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเองและหาเงินเอาตัวรอดได้ด้วยตัวเอง แต่ผมกล้าพูดเลยว่านั่นมันผิดปรกติมนุษย์ มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม เราต้องมีเพื่อน บางคนอาจบอกผมชอบอยู่คนเดียว แต่ความจริงคุณอาจจะแค่ยังไม่เจอเพื่อนที่คุณคิดว่าดีพอต่างหาก และยิ่งพอออกไปทำงาน ต้องมีเพื่อนร่วมงานอะไรมากมาย การพูดคุย การเข้าสังคม การทำงานร่วมกันเพื่อให้งานมันสำเร็จ มันเป็นเรื่องสำคัญ และการเรียนในมหาวิทยาลัยก็คือการจำลองเหตุการณ์เหล่านั้นนั่นเอง! อาจารย์เหมือนเป็นหัวหน้า ให้โจทย์เรามาทำ เราจับกลุ่มกับเพื่อน แบ่งงานกันทำตามความถนัดแต่ละคน เอางานมาประกอบกัน ออกไปนำเสนอต่อหน้าทุกคน นี่มันคือการทำงานคนโลกธุรกิจเลยแหละ
สิ่งเหล่านี้เขาเรียกมันว่า Soft Skill ที่หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินกันอยู่บ้างแล้ว ดังนั้นแล้วการเรียนต่อมหาวิทยาลัยในมุมมองของผมจึงยังมีประโยชน์อยู่ใน ณ จุดนี้ และมันจะดียิ่งกว่านั้น ถ้าเกิดเราเป็นคนเก่ง เป็นคนมีไฟ แล้วได้เรียนท่ามกลางเพื่อนๆ ที่เก่ง มีไฟเหมือนกัน มันก็จะได้เรียนรู้เติมโตไปด้วยกัน แล้วยิ่งถ้าได้เจออาจารย์ที่ดีๆ ร่วมด้วยล่ะก็ ทีนี้รับรองว่ารุ่งโรจน์ชัชวาลย์แน่อน อาจได้ออกไปแข่งขันต่างประเทศกันตั้งแต่ยังเรียนเลย โอกาสดีๆ มีเยอะมากจริงๆ ดังนั้นควรตั้งใจเลือกให้ดีตั้งแต่ต้น (ถ้าใครเลือกผิดแล้วรู้ตัวแล้วก็ซิ่วซะ! หนึ่งปีไม่นาน สองปียังพอไหว แต่ถ้านานกว่านั้นอาจจะช้าเกินแก้)
แล้วตกลงควรเลือกเรียนอะไรกันแน่?
เหมือนจะพูดออกนอกเรื่องไป แต่ความจริงไม่ได้ออกนอกเรื่อง มันจะโยงมาถึงการศึกษาในประเทศไทย ถ้าคุณจะเรียนต่อต่างประเทศ เอาที่ผมเล่าข้างบนไปตัดสินใจได้เลยว่าชอบอะไรที่สุด เพราะต่างประเทศเขาสอนตรงตามสาขา แต่ถ้าจะเรียนในไทย ขอให้ตั้งใจอ่านเรื่องต่อไปนี้ให้ดี
ประเทศไทยมีค่านิยมที่แปลก เวลาเห็นใครทำอะไรได้ดี ก็มักจะทำตามๆ กัน แทนที่จะทำต่างกันแล้วมาเสริมกัน (เรื่องนี้อยากให้ลองสังเกตดู เอาร้านกาแฟเป็นตัวอย่างก็ได้) มันทำให้ทั้ง 3 สาขาที่ได้เล่ามาตั้งแต่ต้นเนี่ย ความจริงแล้วก็เรียนแทบจะเหมือนกัน อาจจะยกเว้นพวกวิชาพื้นฐาน เช่น ถ้าเรียนใต้คณะวิทยาศาสตร์ก็อาจจะเจอเรียนพวก ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แถมมาด้วย ถ้าเรียนอยู่ใต้วิศวะฯ ก็อาจจะได้เจอพวกการวาดแบบ คณิตศาสตร์บางตัวที่พวกวิศวะใช้แต่คอมไม่ได้ใช้ หรือถ้าเรียนไอทีก็อาจจะได้เจอธุรกิจเยอะหน่อย แต่พอขึ้นปี 3 ที่เรียนวิชาหลักของแต่ละสาขาเนี่ย มันกลายเป็นว่าเรียนเหมือนกันหมดเลยเท่าที่เห็น เรียนเขียนโปรแกรม ออกแบบระบบ ทฤษฎีต่างๆ บนคอมฯ กลายเป็นจบมาจาก 3 สาขา ความจริงไม่ได้ต่างกัน
แต่มันไม่ได้เหมือนกันไปซะหมด! สิ่งที่ต่างกันคือ คุณภาพและสังคมของเด็กในสาขานั้นๆ ค่านิยมของไทย ก็มักจะเอาวิศวะ นำก่อน ตามมาด้วย วิทยาศาสตร์ และอื่นๆ ดังนั้นเด็กๆ ทั้งหลายก็มักจะเชื่อผู้ใหญ่ การแข่งขันจึงมักจะไล่ตามลำดับคือ วิศวคอมฯ วิทยาการฯ และ IT (สองอันดับสุดท้ายนี่แล้วแต่มหาวิทยาลัย แต่วิศวคอมฯ แรงสุดแน่นอน) นี่แค่ระดับการแข่งขันกันในสาขา ยังไม่นับถึงชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยอีกนะ โดยธรรมชาติแล้ว ที่ไหนที่มีการแข่งขันสูง ก็มักจะได้เด็กเก่งๆ ไปอยู่รวมกันเยอะ แล้วก็ไล่เลี่ยลงไปเรื่อยๆ ตามคะแนนสอบเข้านั่นแหละ
ควรจะเข้าอะไร ให้ดูดังนี้ ถ้าเราเป็นนักสู้ แล้วได้ไปอยู่กับเพื่อนเก่งๆ เราก็ต้องปรับตัว แล้วสุดท้ายก็จะเก่งไปกับเพื่อนๆ ถ้าเราเก่ง ไปอยู่กับที่อ่อน เพื่อนๆ มีคอมพิวเตอร์เอาไว้เล่นเกมแทนที่จะพัฒนาอะไรเจ๋งๆ ขึ้นมา ใช้ชีวิตโดยไม่มีเป้าหมาย ชีวิตเราต่อให้ไฟแรงขนาดไหน ก็จะเรื่อยๆ เปื่อยๆ ตามเพื่อนไปในท้ายที่สุด ที่พูดถึงเพื่อน 2 กลุ่มนี้ ตอนออกมาทำงานจริง โอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตต่างกันอย่างกับหน้ามือกับหลังตีนเลย กล้ายืนยัน อันนี้ยังไม่นับพวกไปเรียนต่อโทต่อเอกต่างประเทศอีกนะ ซึ่งกลุ่มแรกมีโอกาสกว่ามากๆ
ดังนั้นถ้าจะเรียนปริญญาตรีในไทย แทนที่จะเลือกว่าควรเรียนสาขาไหนดี ควรเลือกว่าเราอยากไปอยู่ในสังคมแบบไหนดีจะดีกว่า มองหาตัวเองให้เจอว่าเราอยากประสบความสำเร็จขนาดไหน เราอยากอยู่ท่ามกลางคนเก่ง ยอมทำงานยากแม้จะเหนื่อยกว่า แต่สุดท้ายได้ผลงานที่มีคุณค่า ถ้าแบบนี้ ก็ควรเข้าไปเรียนวิศวะคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่เราอยากมีชีวิตชิลๆ ทำงานแค่มีเงินพอเลี้ยงชีพได้ก็พอ ถ้าแบบนี้ก็เลือกที่เบาๆ ลงมาหน่อย แต่ถ้าเป็นไปได้มีหลักสูตรภาษาอังกฤษให้เลือก และฐานะครอบครัวส่งเสียไหวหรือได้ทุน ก็ควรเลือกซะ เพราะภาษาอังกฤษสำคัญมากจริงๆ
เขียนมายืดยาว สุดท้ายหัวใจมีอยู่นิดเดียวอยู่ที่ตอนท้าย ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะช่วยให้น้องๆ ได้รับความชัดเจนขนาดไหนว่าตกลงควรจะเลือกเรียนอะไรกันแน่ ถ้าอ่านแล้วถ้ามีคำถาม อยากได้คำแนะนำเพิ่มเติม หรือใครมีความเห็นต่าง ก็เขียนกันไว้ได้ใน Comment นะครับ ยินดีรับฟังและให้คำแนะนำ ส่วนบทความนี้ขอจบไว้แต่เพียงเท่นี้ ขอให้ได้ที่เรียนที่ถูกใจกันทุกคนนะครับ
ใครเจอเขียนผิดตรงไหนยังไงก็บอกกันได้นะครับ ช่วยๆ กันแก้ 😀