Unicorn Tears หนังสือปกสวยเล่มหนึ่งที่ผมตัดสินใจนานมากกว่าจะหยิบมา เพราะรู้สึกว่าทุกวันนี้ปัญหาก็เยอะมากอยู่ละไม่อยากจะรับรู้ปัญหาอะไรเพิ่ม แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจซื้อมา เพราะคิดว่ามึงหนีปัญหาไม่พ้นหรอก ต้องเตรียมตัวเผชิญหน้าถึงจะถูก แล้วก็ค้นพบว่า เป็นหนังสือที่ควรอ่านก่อนจะเริ่มทำสตาร์ตอัพ ไม่ใช่เพิ่งมาอ่านเอาตอนนี้ 555 (จริงๆ เป็นหนังสือที่คนทำสตาร์ตอัพทุกคนควรอ่านสักครั้ง ไม่ว่าจะอยู่ Stage ไหนก็ตาม)
หนังสือเล่มนี้เน้นไปถึงผู้ก่อสตาร์ตอัพเป็นหลัก กล่าวถึงอุปสรรค์ต่างๆ ที่ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพจะต้องเจอ ซึ่งหลายคนจะเห็นตามข่าวถึงปัญหาของขายไม่ได้ เงินหมด จะอะไรก็ว่ากันไป นั่นก็เป็นปัญหา แต่มีอีกปัญหาที่เป็นเรื่องสำคัญมากด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ แรงกดดัน และสภาพจิตใจของผู้ก่อตั้ง ซึ่งมักจะไม่ค่อยมีคนพูดถึงกัน เพราะมันจะแสดงออกถึงความอ่อนแอหรือจะอะไรก็ตามที แต่นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก และหนังสือเล่มนี้ก็ได้กล่าวถึงไว้อย่างเป็นห่วงเป็นใย เรียกว่าเข้าถึงหัวใจผู้ประกอบการสุดๆ
หากจะกล่าวถึงสิ่งที่ต้องคำนึงถึง การพัฒนาไอเดีย การหาผู้ร่วมก่อตั้ง การจัดหาและดูแลพนักงาน การพัฒนาแผนธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริหารเงิน การระดมทุน การจัดการความสัมพันธ์กับนักลงทุน เรียกว่าเล่มนี้ทำได้ครบรอบด้านเลย ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายลองไปหาอ่านดู
จากประสบการณ์ทำงานสตาร์ตอัพมาได้เกือบจะ 4 ปี ต้องยอมรับเลยว่านี่เป็นเส้นทางที่หฤโหดมาก มีอะไรต้องทำมากมายเสียจนหันมาดูปฏิทินอีกทีแล้วก็ต้องตกใจว่าจะสิ้นเดือนอีกแล้วหรอฟระ แต่ละ Stage ก็มีสิ่งที่ต้องทำ มีปัญหาที่แตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง ต้องเรียนรู้ ต้องปรับตัวไม่ได้หยุดเลยจริงๆ แต่ก็ท้าทายและสนุกมากไปพร้อมกัน
สื่อต่างๆ นำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับสตาร์ตอัพผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงไปพอสมควร ความคิดเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าสตาร์ตอัพไม่ใช่ทางที่ใครจะมาทำก็จะมา จะไปก็ไป มันมีความคาดหวัง มันมีพันธะมากมาย ผมว่ามันคือ Life Style มันคือเส้นทางของคนที่คิดอยากเปลี่ยนโลก มันคือเส้นทางของนักสู้ หาใช่ที่มาขุดเงินขุดทองหวังรวยเร็วอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน การระดมทุนได้เป็นแค่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่แท้จริง
ที่อยากเน้นย้ำอีกเรื่องคือ สภาพจิตใจของคนทำสตาร์ตอัพนั้นต้องแข็งแกร่งดั่งเพชรจริงๆ ผมหมายถึงตั้งแต่ผู้ก่อตั้งไปจนถึงพนักงานทุกคน คุณจะต้องรับศึกรอบด้าน ต้องรักษาสมดุลชีวิตให้ได้ คุณเลือกมาขึ้นเรือเล็ก มันย่อมโคลงเคลงมากเป็นธรรมดา แต่ก็มีข้อดี การแจวของคุณจะส่งผลอย่างมากต่อองค์กร คุณจะเห็นผลลัพธ์ชัดเจนจากงานที่คุณทำ คุณจะได้เรียนรู้ทั้งลึกทั้งรอบด้าน แล้วถ้าอดทนจนเรือไปถึงเป้าหมายได้จริง ก็มารอดูกันว่ารางวัล (ความรู้ ประสบการณ์ เงิน) ที่ได้กลับมานั้นจะคุ้มค่าเพียงใด หรือต่อให้ไปไม่ถึงฝั่ง ผมก็เชื่อว่าคุณก็จะแกร่งจนเดินไปไหนก็มีแต่คนกวักมืออยากให้ไปร่วมงาน
ขอแนะนำหนังสือเล่มนี้ไว้ให้ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพทุกท่านได้อ่าน ได้พิจารณา และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จากใจเพื่อนร่วมวงการ และขอเป็นกำลังใจให้นักสู้ทุกคน..
=========================================
เนื้อหาบางส่วนที่รู้สึกน่าสนใจ อยากเก็บไว้ทบทวนในภายหลัง
ความสูญเสียทางการเงินจากสตาร์ตอัพเป็นเรื่องที่เข้าใจกันในวงกว้าง แต่สิ่งที่เป็นที่ยอมรับน้อยกว่าคือเรื่องที่ไม่ค่อยอยากพูดถึงกัน อย่างความสูญเสียที่เกี่ยวข้องมนุษย์ ผู้ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ตอัพร้อยละ 49 รายงานเองว่า พวกเขามีปัญหาด้านจิตใจไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง กว่าร้อยละ 30 มีประสบการณ์โรคซึมเศร้า ขณะที่ร้อยละ 27 มีอาการวิตกกังวลอย่างรุนแรง
pp.2
ถ้าคุณคาดหวังว่าการก่อตั้งสตาร์ตอัพเป็นอะไรที่โก้หรู ก็ควรวางหนังสือเล่มนี้ลง แล้วกลับไปหางานประจำในบริษัทตามเดิม สตาร์ตอัพอาจไม่ใช่สำหรับคุณ
pp.20
การเปิดอกคุยโดยใช้เหตุผลและซื่อสัตย์ตรงไปตรงมากับบรรดาผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดของคุณก่อนเริ่มต้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก
pp.21
สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับว่าที่หุ้นส่วนธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง คุณยังมองเห็นหรือยืดถือคุณค่าชุดเดียวกันอยู่หรือไม่ คุณมีแรงจูงใจร่วมกันในการเริ่มต้นธุรกิจใช่ไหม พวกเขาจะสละเรือในสถาการณ์ยากลำบากไหม คุณจะทำอย่างไรถ้าสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปอย่างที่คิด แล้วถ้าทุกอย่างไปได้สวย คุณจะทำอย่างไร คุณจะทำอย่างไรหากใครสักคนอยากถอนตัว ขณะที่คนอื่นๆ ยังเหนียวแน่น คุณต้องการผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่นๆ จริงไหม จะง่ายกว่าไหม ถ้าคุณจะจ้างคนที่มีทักษะเข้ามาทำงานแทน หรือพวกเขามีทักษะเฉพาะที่คู่ควรจะเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ตั้งหรือกำหนดความคาดหวังเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า
pp.22
สตาร์ตอัพ = องค์กรชั่วคราวที่อยู่ระหว่างเสาะหาโมเดลธุรกิจที่ ขยายตัวได้ (Scalable) ทำซ้ำได้ (Repeatable) และ ทำกำไรได้ (Profitable)
pp.31
10 เหตุผลหนักที่ทำให้สตาร์ตอัพล้มเหลว (ไปหาอ่านกันเอาเอง)
pp.35
การได้ทำงานในสตาร์ตอัพที่ทีมงานยอดเยี่ยมจะเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตคุณ ในทางกลับกัน การทำงานกับกลุ่มคนที่ไม่ใช่ก็ไม่ต่างจากฝันร้าย
pp.38
ความล้มเหลวที่เกิดจากโมเดลธุรกิจผิดพลาดสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก้
- ขาดความเป็นที่ต้องการ
- ขาดความเป็นไปได้
- ขาดความสามารถที่จะอยู่รอดในระยะยาว
- ขาดความสามารถในการปรับตัว
pp.40
ความล้มเหลวของผู้ก่อตั้งมักมาจาก 3 ปัจจัยกว้างๆ ได้แก่
- ผู้ก่อตั้ง (หรือกลุ่มผู้ก่อตั้ง) ขาดสมรรถภาพ
- ผู้ก่อตั้ง (หรือกลุ่มผู้ก่อตั้ง) ขาดความสามารถ
- ความไม่ลงรอยในหมู่ผู้ก่อตั้ง
pp.55
ลักษณะของผู้ก่อตั้งที่แย่
หยิ่งผยอง แสดงออกซึ่งความเขลา ชอบพร่ำบ่น โทษคนอื่น ไม่ยอมรับคำวิจารณ์ ฟังคนผิด อัตตาใหญ่เท่าโลก คำนึงถึงแต่ตัวเอง ใจแคบ ไม่รับฟังคนอื่น สร้างความขัดแย้งในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ทำงานหรือตัดสินใจตามสัญชาตญาณมากกว่าจะอิงความรู้หรือข้อมูล ขาดความกระตือรือร้นหรือขี้เกียจ มีแนวโน้มที่จะลำเอียงทางความคิด บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ปฏิเสธหรือเปลี่ยนใจช้า ให้คุณค่ากับทีมต่ำเกินไป ชอบคิดว่าต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เลือกปฏิบัติต่อพนักพนักงานสตรีและผู้ร่วมก่อตั้งอย่างไม่ให้เกียรติ
pp.57
ผู้ร่วมก่อตั้งที่ประสบความสำเร็จมักจะมีความขัดแย้งในตัวเอง กล่าวคือ สามารถยืนอยู่ในสองจุดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงและแสดงคุณลักษณะที่ขัดแย้งกันในเวลาเดียวกัน เช่น หัวแข็งแต่ยืดหยุ่น กล้าเสี่ยงแต่คิดหน้าคิดหลัง คิดยาวแต่ก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ในทันที พร้อมที่จะล้มให้เร็วแต่ก็ไม่เคยยอมแพ้
pp.59
ผมเคยมีประสบการณ์ในการก่อตั้งบริษัทร่วมกับผู้ก่อตั้งทั้งสอง สาม และสี่คน รวมถึงทำคนเดียว ประสบการณ์แต่ละครั้งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งในแง่บวกและลบ ประสบการณ์แต่ละครั้งมีประโยชน์ แต่ถึงที่สุดแล้วทั้งหมดเป็นเรื่องของการเลือกคนที่เหมาะสมมาทำงานร่วมกันอย่างลงตัวและตอบโจทย์ธุรกิจของคุณ อย่ารีบล่มหัวจมท้ายกับผู้ร่วมก่อตั้งคนใดก็ตาม จงตรวจสอบให้รอบคอบเสียก่อน
pp.62
เรามีพนักงานประมาณ 35 คน ทีมบริหารและวัฒนธรรมองค์กรแข็งแกร่งเสียจนขนาดองค์กรไม่ลดลงเลยในช่วงสามปีแรก นั่นหมายความว่าไม่มีใครลาออกเลย ซึ่งหาได้ไม่ง่ายสำหรับสตาร์ตอัพในช่วงเริ่มต้น ไม่มีใครลาออกเลยแม้แต่คนเดียวเนื่องจากสภาพแวดล้อมในการทำงานยอดเยี่ยมมาก ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเพราะทุ่มเทสร้างวัฒนธรรมองค์กรและทีมผู้บริหารที่เหลือก็สนับสนุนวัฒนธรรมนี้ เราอาจมีสไตล์ที่แตกต่างกัน แต่เรามีค่านิยมร่วมกันซึ่งช่วยยึดโยงทุกคนไว้ด้วยกัน
pp.63
ประเด็นสำคัญในการเปิดอกคุยกัน
- คุณจะแก้ปัญหาอย่างไรเวลามีเรื่องขัดแย้ง
- คุณสามารถร่วมไม้ร่วมมือกันได้ดีหรือไม่
- คุณไว้ในผู้ร่วมก่อตั้งของคุณหรือไม่
- คุณแต่ละคนนำทักษะและประสบการณ์อะไรมาให้บริษัทบ้าง
- คุณรู้จักกันมานานเท่าไหร่ มีประวัติกันและกันหรือไม่
- คุณชอบพบปะกันนอกเวลางานหรือไม่
- คุณคิดว่าคุณมีค่านิยมร่วมกันหรือไม่
- คุณคาดหวังอะไรจากพวกเขา และพวกเขาคาดหวังสิ่งใดจากคุณ
- คุณจะดำเนินการอย่างไรกรณีที่ แยกทางกันเดิน คุณจะแยกกิจการ หรือซื้อกิจการทั้งหมด หรือหาบุคคลอื่นมาแทนที่
pp.65
ผมมีเรื่องน่ากลัวจะเล่าให้คุณฟังได้หลายเรื่องทีเดียว ไม่ใช่ว่าทุกคนมีแรงจูงใจในลักษณะที่ซื่อสัตย์และตรงไปตรงมาแบบเดียวกับคุณ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นที่ปรึกษา นักลงทุน หรือกรรมการบริหาร จงรอบคอบก่อนจะไว้ใจใคร ผมเคยพบเห็นคนที่เข้ามาลงทุนด้วยความตั้งใจที่จะทำให้ธุรกิจล้มเหลว เพราะได้ลงทันในธุรกิจคู่แข่งไปก่อนหน้านี้แล้วด้วยจำนวนเงินที่มากกว่า ผมยังได้เห็นพฤติกรรมบางอย่างที่ไร้คุณธรรมอย่างมากอีกด้วย ถ้าอะไรดูจะดีเกินจริงก็มักจะเข้าข่ายที่ว่านี้
pp.68
3 ขั้นตอนป้องกันผู้ก่อตั้งแยกทางกันเดิน
- บันทึกข้อตกลงทุกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่เนิ่นๆ
- ลองใช้งานว่าที่กรรมการบริหารก่อนตัดสินใจแต่งตั้ง
- แบ่งปันความเสี่ยง
pp.69
ความแตกต่างระหว่างผู้ก่อตั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวอยู่ตรงที่ว่า ผู้ก่อตั้งที่ประสบความสำเร็จแปรเปลี่ยนแนวคิดอันเยี่ยมยอดของพวกเขาให้เป็นคุณค่าของสินค้าที่ลูกค้าใฝ่หา หลังจากนั้นจึงแปรเปลี่ยนเป็นโมเดลธุรกิจที่ทำได้จริง
pp.78
ผู้ก่อตั้งจำนวนมากเชื่อว่า แนวคิดของพวกเขาคิดเป็นกว่าร้อยละ 95 ของมูลค่าของสตาร์ตอัพ เหลืออีกราวร้อยละ 5 เป็นเรื่องอื่นๆ ตัวผมเองเห็นต่าง นั่นคือแนวคิดเป็นประมาณร้อยละ 5 อีกร้อยละ 95 ขึ้นอยู่กับคุณค่าอันยอดเยี่ยมที่ต้องการส่งมอบให้ลูกค้า โมเดลธุรกิจ และทีมงานมีฝีมือที่ดำเนินงานได้ดี
pp.79
ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีฝีมือแค่ไหนก็ตาม หากไม่สามารถเข้ากับวิธีการทำงานของคุณหรือวัฒนธรรมองค์กรของคุณก็ไม่ควรจ้าง เพราะคุณจะหมดเวลาไปกับการบริหารความสัมพันธ์มากกว่าการบริหารธุรกิจ ในฐานะสตาร์ตอัพ คุณไม่สามารถเสียเวลาและพลังงานไปแบบนั้นได้
pp.88
เคสตัวอย่างการพิจารณาตลาดที่น่าสนใจ แคตตาแกรม (ไปหาอ่านกันต่อเอง)
pp.90
ถ้าคุณกังวลว่าจะมีคนขโมยและลอกเลียนแบบแนวคิดของคุณ สิ่งนี้บอกอะไรได้มากทีเดียวเกี่ยวกับจุดแข็งของทีมงาน โมเดลธุรกิจ และประสบการณ์ของคุณ แนวคิดไม่ใช่เรื่องยาก แต่การดำเนินการตามแนวคิดนั้นยากกว่ามาก คุณจึงแทบไม่จำเป็นต้องเก็บแนวคิดหรือสตาร์ตอัพของคุณไว้เป็นความลับเลย
pp.92
การมีแนวคิดที่ดึงดูดใจไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีบริษัทที่ยิ่งใหญ่ หัวใจสำคัญของการมีสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จคือ การเปลี่ยนแนวคิดสุดยอดให้กลายเป็นธุรกิจซึ่งมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่คนยอมควักกระเป๋าจ่าย
pp.97
การระดมทุนได้เป็นกอบเป็นกำนั้นน่าเร้าใจและเป็นข่าวที่ผู้คนสนใจ แต่การได้มีซึ่งลูกค้ารายแรก การส่งใบแจ้งหนี้ใบแรกออกไปให้ลูกค้า หรือการส่งสินค้าชุดแรกไปให้ลูกค้า ล้วนเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งกว่ามาก แน่นอนว่าคุณไม่สามารถก้าวไปถึงจุดเหล่านั้นได้หากปราศจากเงินทุนสนับสนุน แต่คุณต้องไม่ละสายตาไปจากสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ เงินทุนเป็นเพียงแค่พลังที่ช่วยคุณสร้างธุรกิจอันยั่งยืนเท่านั้น
pp.103
ทุกวันนี้เหล่านักลงทุนต่างคาดหวังให้สตาร์ตอัพมีโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนและทำเงิน ทุกวันนี้นักลงทุนจะพูดว่า “เยี่ยมมากที่ฐานผู้ใช้ของคุณกำลังขยายตัว แต่คุณจะทำเงินได้อย่างไร เราจะไม่ลงเงินสนับสนุนธุรกิจนี้ไปตลอด”
pp.105
ถ้าธุรกิจของคุณไปไม่ถึงเป้าหมายสำคัญหรือได้ผลต่ำกว่าที่วางแผนไว้ นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่คุณจะหลบหน้านักลงทุนของคุณ อันที่จริงนี่คือช่วงเวลาที่จะต้องสื่อสารให้มากเป็นพิเศษต่างหาก การไม่มีข้อมูลเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนเข้าใจผิด จงซื่อสัตย์และโปร่งใสทั้งในช่วงที่ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดีหรือกำลังย่ำแย่
pp.116
การนำพาสตาร์ตอัพเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง คุณต้องควบคุมงานด้านต่างๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการหาโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน ขยายตัวได้ และทำกำไรได้ การดึงดูดและรักษาคนเก่งเอาไว้ การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าจะหลงรักและยอมจ่ายเงินซื้อ รวมถึงการบริหารเงินสด มีส่งที่ต้องคำนึงมากมายเสียจนผู้ก่อตั้งมักจะรู้สึกรับไม่ไหว
pp.120
สตาร์ตอัพที่ไม่ใส่ใจเรื่องนี้มักจะผลาญเงินสดจนหมดและปิดกิจการไป ไม่มีธุรกิจไหนมีเงินทุนไม่จำกัด และเป้าหมายของคุณคือการทำกำไรและอยู่ไปได้นานๆ จงใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น และอยู่ห่างๆ จากเครื่องประดับตกแต่งสำนักงานราคาแพง รวมถึงรถราคาแพงสำหรับใช้ในบริษัท
pp.121
เมื่อคุณให้คนกลุ่มเล็กๆ ทำงานร่วมกันในสภาพที่มีแรงกดดันสูง ก็อาจจะเกิดความขัดแย่งและความไม่ลงรอยกันสูง ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีวิธีคิดที่ถูกต้อง คนกลุ่มนี้ก็จะทำงานร่วมกันได้อย่างยอดเยี่ยม
pp.129
หนักตอนฝึก ออกศึกสบาย
pp.131
โมเดลความฟิตของผู้ก่อตั้ง
- ด้านจิตใจ การรู้จักตัวเอง การเข้าถึงจิตใจผู้อื่น ความพร้อมรับฟังคำชี้แนะ
- ด้านร่างกาย การออกกำลังกาย อาหาร การพักผ่อนนอนหลับ
- ด้านอารมณ์ การมีสติ การจัดการความเครียด อคติ ความเชื่อ และความฟุ้งซ่าน
pp.133
คำถามที่ต้องถามเพื่อจะออกไประดมทุน ให้เติมคำในช่องว่าง (ชื่อผลิตภัณฑ์) ของเรา ช่วย (ระบุกลุ่มลูกค้า) ที่ต้องการ (ระบุสิ่งที่ลูกค้าต้องการทำ) ด้วยการลด (ระบุปัญหายุ่งยากของลูกค้า) และเพิ่ม (ระบุประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ) แตกต่างจาก (ระบุคุณค่าสินค่าของคู่แข่ง)
pp.174
สำหรับคนที่ไม่เคยออกแบบธุรกิจมาก่อน ขอแนะนำให้ติดตามต่อในหนังสือ Business Model Generation ของ อเล็กซ์ ออสเตอร์วอลเดอร์
หากผู้ร่วมก่อตั้งที่เก่งด้านเทคโนโลยีไม่ใช่คนมีวิสัยทัศน์ที่สามารถคาดคะเนทิศทางตลาดได้อย่างแม่นยำชนิดหาตัวจับยาก จงอย่าให้หุ้น ถ้าหากคุณใช้วิธีให้หุ้นกับผู้ร่วมก่อตั้งที่เก่งด้านเทคโนโลยีเพียงเพื่อที่จะลดต้นทุนในการสร้างแอปพลิเคชั่น ก็นับได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดมาก
pp.187
คุณทำให้รู้สึกได้หรือไม่ว่า คุณเป็นคนซื่อตรง อย่าคิดว่านักลงทุนงี่เง่า พวกเขากำลังพิจารณาที่จะให้เงินก้อนใหญ่กับคุณ พวกเขาจำเป็นต้องสร้างสัมพันธ์กับคุณและต้องไว้ใจคุณได้ คุณต้องแสดงให้เห็นว่าคุณไว้ใจได้
pp.213
ก่อนจะไประดุมทุนควรสร้างคลังข้อมูล เพื่อเอาไว้เก็บ
- แผนการนำเสนอสตาร์ตอัพ
- บันทึกข้อมูลสำคัญ
- เอกสารทางกฎหมาย
- รายงานสำคัญด้านการเงิน
- ตัวเลขคาดการณ์ด้านการเงินช่วง 12 เดือน
- แบบจำลององค์ประกอบธุรกิจ
- สัญญาซื้อขายกับลูกค้า
- ข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุน
pp.121