แต่ก่อนเคยคิดว่า
ความมั่นคงที่แท้จริง คือทักษะที่เรามี
หาใช่การได้อยู่ในบริษัทใหญ่ที่คนทั่วไปบอกว่ามีความมั่นคง
หากพิจารณาดูให้ดีแล้ว ประโยคดังกล่าวอาจถูกเพียงครึ่งหนึ่ง
ครึ่งหนึ่งที่ขาดหายไปคือส่วนของการพิจารณาด้านสังคม
ก่อนอื่นต้องปรับพื้นให้ตรงกันก่อนว่า
แท้จริงแล้วมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม หาใช้อยู่ตัวคนเดียว
เราอยู่รวมกันเพื่อใช้ความถนัดของตนเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ทุกสัมมาชีพในสังคมล้วนสร้างคุณค่าให้แก่สังคม
โดยตัวบุคคลแล้ว โดยลึกก็อยากสร้างประโยชน์ให้สังคม
นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมการต้องการเป็นที่รัก
และวความต้องการการเป็นที่ยอมรับ
จึงเป็นส่วนหนึ่งของ “พีระมิดความต้องการ” จาก ทฤษฎีมาสโลว์
และเป็นส่วนหนึ่งในการรู้สึกถึงความมั่นคงในการมีชีวิตอยู่
ทุกคนจึงต้องทำงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคง
คำถามต่อมาคือ พวกเราทำงานไปเพื่ออะไร?
หากเป็นคำตอบเชิงอุดมคติหน่อย ก็น่าจะได้คำตอบประมาณว่า
ทำงานเพราะรักในงานที่ทำ เพราะรู้สึกอยากประสบความสำเร็จ
หากเป็นเช่นนี้ก็จะลู่เข้าการต้องการการเป็นที่ยอมรับโดยอัตโนมัติ
หมายความว่าคุณขึ้นมาถึงความต้องการระดับที่ 4 หรือระดับ 5 แล้ว
ซึ่งจากที่ประสบมา มีประชาชนจำนวนน้อยมากที่มาถึงจุดนี้ได้
และเราไม่จำเป็นต้องพูดถึงคนกลุ่มนี้
เพราะพวกเขามักจะมีชีวิตที่ดีของเขาอยู่แล้ว
ส่วนคำตอบส่วนใหญ่ที่ได้พบ และเป็นคำตอบของคนส่วนใหญ่
ก็มักเป็นคำตอบประมาณว่า ทำงานเพื่อให้ได้มีเงินเยอะๆ
จะได้มีชีวิตที่สุขสบาย ปลอดภัย และมั่นคง
ซึ่งคำตอบนี้ล่ะที่เป็นที่มาของที่มาของประโยคที่ว่า
ทำงานในองค์กรที่มั่นคง ก็จะมีชีวิตที่มั่นคง
หรือแม้กระทั่งประโยคที่ว่า
ความมั่นคงที่แท้จริง คือทักษะที่เรามี
เพื่อจะได้มีคนจ้างเราทำงานต่อไป
มันจึงส่งต่อมาที่คำถามว่า
แล้วที่พัฒนาทักษะขึ้นมาทำงาน แล้วงานที่ได้ลงมือทำงานไป
ใครกันที่เป็นคนจ้าง เป็นคนจ่ายเงินให้ล่ะ
แล้วทำไมเขาจึงจะต้องแบ่งผลประโยชน์ให้ด้วย
เมื่อพิจารณาในส่วนนี้แล้วก็จะมองเห็นว่า
สุดท้ายมันก็วนกลับเข้ามาที่เราต้องทำงานเพื่อคนอื่น
เพื่อให้เขายินดีที่จะจ้างและจ่ายเงินให้เราอยู่ดี
แน่นอน สิ่งหนึ่งที่จะทำให้คนจ่ายเงินให้เราก็มีหลายแบบ
หนึ่งในนั้นคือ การถูกบอกให้ต้องจ่าย
เพราะว่าเป็นส่วนหนึ่งในองค์กร
ซึ่งมักจะเกิดในหน่วยงานบางประเภท
ซึ่งมักเกิดมาก่อนเป็นโครงสร้างแบบดั้งเดิม
จึงเป็นที่มาของประโยค ทำงานในองค์กรที่มั่นคง ก็จะมีชีวิตที่มั่นคง
เพราะองค์กรพวกนี้ สามารถอยู่ตั้งแต่เรียนจบใหม่ยันเกษียณ
ตราบเท่าที่คุณจะยังทำงานเป็นเฟืองที่สามารถหมุนไปเรื่อยๆ ในนั้นได้
ต่อมาภาคธุรกิจมีการแข่งขันสูงขึ้น วิธีการประเมินผลจึงเปลี่ยนไป
การประเมินค่าตอบแทนจึงวัดกันที่ประสิทธิภาพและประสิทธิผล
องค์กรเหล่านี้มักจ่ายค่าตอบแทนให้สูงกว่าองค์กรแบบดั้งเดิม
แต่ก็แลกมากับว่าคุณอาจจะถูกแทนที่ด้วยคนรุ่นใหม่ที่เก่งกว่าได้ทุกเมื่อ
องค์กรลักษณะนี้จึงขับเคลื่อนตัวเองได้รวดเร็วกว่าเพราะเป็นแหล่งรวมคนเก่ง
แต่ก็แลกกับการต้องเผชิญหน้ากับการแข่งกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพื่อที่จะอยู่รอดได้ในองค์กรประเภทนี้
การพัฒนาทักษะความสามารถอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ได้เจาะลึกลงไปพิจารณาความต้องการขององค์กรกันแล้ว
ลองมองออกในมุมกว้างกันบ้าง แล้วจริงๆ แล้วองค์กรต้องการอะไร
ผู้คนเป็นฟันเฟืองในองค์กร ความจริงองค์กรก็เป็นฟันเฟืองในสังคมเช่นกัน
องค์กรที่อยู่ได้ก็คือ องค์กรที่มีประโยชน์ต่อสังคม
แล้วคนที่อยู่ได้ในองค์กร ก็คือคนที่มีประโยชน์ต่อองค์กร
ดังนั้นหากจะกล่าวว่า
องค์กรเป็นผู้เลือกคนที่มีประโยชน์ต่อสังคมมาอยู่ด้วย
ก็ถือว่าไม่ผิด
มาถึงวันนี้จึงคิดว่า
ความมั่นคงที่แท้จริง คือคุณค่าที่ตัวเรามีให้แก่สังคม
หากคุณเป็นคนที่มีทักษะบางอย่างที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
แต่เป็นทักษะที่ไม่เป็นที่ต้องการของสังคม ก็หาความมั่นคงไม่ได้
หากคุณเป็นคนที่มีทักษะบางอย่างที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
แล้วก็เป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการของสังคมด้วย
แต่ไม่ลงมือทำ ไม่ใช้ทักษะดังกล่าว ก็หาความมั่นคงไม่ได้
ดังนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคง
จึงจำเป็นต้องมีทั้งประกอบด้วย 3 องค์ประกอบนี้ร่วมกัน ได้แก่
1) โอกาส
2) ทักษะความสามารถ
3) การลงมือทำจนสัมฤทธิ์ผล
ส่วนความมั่นคง หรือค่าตอบแทนจะได้กลับมาเท่าไหร่นั้น
ขึ้นอยู่กับบริบท ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกเช่น
ลักษณะขององค์กรที่อยู่
คุณค่าของทักษะที่เรามีเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด
คุณภาพของผลงานที่สามารถสร้างสรรค์ออกมาได้
ทัศนคติต่อเนื้องานที่เรามีต่อองค์กร
ไปจนถึงความสามารถในการวางตัวในองค์กร
ซึ่งการตีความทักษะนั้นก็หลายหลายเช่นกัน
อาจจะเก็บเอาไว้เขียนในวันหลัง
แต่โดยสังเขปแล้วคือ
ทักษะมีแบบที่ใช้งานได้โดยตรงที่ไว้ใช้สร้างผลงานและบริการ
กับทักษะที่ใช้งานโดยทางอ้อม เช่นทักษะทางสังคมต่างๆ
และยังมีทักษะในการรู้ตัว ปรับตัว และพัฒนาตนเองอีก
นี่ไม่ต้องพูดถึงการตีความคำว่าคุณค่า
ซึ่งมีมิติซ้ำซ้อนยิ่งกว่าการตีความถึงทักษะ
มาถึงตรงนี้จึงต้องปรับวิธีการคิดเพื่อแสวงหาความมั่นคง
เริ่มจาก การตั้งต้นด้วยวิธีคิดให้เป็นแบบผู้ให้
จึงจะสามารถมองเห็นว่า มีสิ่งใดบ้างที่เป็นสิ่งที่สังคมต้องการ
จากนั้นจึงมองย้อนกลับมาที่ตัวเองว่า
จากสิ่งที่สังคมต้องการ มีทักษะใดบ้างที่จะตอบโจทย์
แล้วเป็นทักษะที่เรารักที่จะพัฒนามัน
จากนั้นจึงลงมือพัฒนาทักษะนั้นจนแข็งแกร่งมากพอ
ที่จะสามารถนำไปใช้สร้างประโยชน์ได้จริง
แล้วจึงออกไปมองหาโอกาสในการใช้ทักษะกับงานที่ใช่
เข้าไปใช้ทักษะ ร่วมสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่ากับสังคม
กับองค์กรที่เห็นคุณค่าในความเป็นตัวตนของเรา
เมื่อถึงจุดนั้น จึงจะสัมผัสได้ถึงสิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นคง”