เพิ่งอ่านจบไป The Subtle Art of Not Giving a F*ck

เล่มนี้อ่านอยู่ช่วงก่อน COVID-19 แล้วก็หยุดไปเพราะเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน หลังจากเริ่มตั้งหลักได้ก็เอามาอ่านก่อนนอนแทน นี่เพิ่งจะอ่านจบไปสดๆ ร้อนๆ

หนังสือเล่มนี้ต่อต้านลัทธิโลกสวยอย่างตรงไปตรงมา ชีวิตที่แสวงหาความสุขนั้นล้วนเต็มไปด้วยความทุกข์ ส่วนชีวิตที่ยอมรับและเข้าใจถึงความทุกข์นั้นกลับอุดมไปด้วยความสุข

ชีวิตจะสุขจะทุกข์ มันอยู่กับว่าเราพอใจที่จะวางเส้นความคาดหวังไว้ตรงไหนจากจุดที่เราอยู่

ส่วนตัวเป็นคนขวางโลกมาตลอดตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย มีอุดมการณ์ ความคิดขัดที่แย้งกับสังคมมาตลอด และไม่เคยถอยในความหัวแข็งเลย เพราะรู้สึกว่าโลกนี้มันผิดไปจากสิ่งที่คาดหวังไปพอสมควร จนกระทั้งมาทำงานถึงได้เรียนรู้ที่จะประนีประนอมยอมลดอีโก้ตัวเองลง รับฟังมุมมองของคนอื่นมากขึ้น ลองทำอะไรที่ชาวบ้านเขาทำกันมากขึ้น มีความเป็นมนุษย์ (แบบที่สังคมนิยาม) มากขึ้น จากภายนอกคนรอบตัวบอกเรามีพัฒนาการที่ดี แต่กับตัวเองภายในกลับรู้สึกไม่อิ่มเอมเหมือนแต่ก่อนสมัยที่กล้าพูดกล้าแสดงจุดยืนที่ชัดเจน จนรู้สึกสงสัยในวิธีคิดที่เคยมีว่ามันไม่ถูกต้องจริงหรือ กระทั้งมาเจอหนังสือเล่มนี้เนี่ยแหละ หนังสือที่บอกว่า นี่มึงจะโลกสวยไปให้ได้อะไรฟระ จะโกหกความจริงไปให้ได้อะไร พิจารณาให้ดี ชีวิตมันเป็นของมันแบบนี้ ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับมันให้ได้ ไหลตามมากไปก็ไม่ดี ฝืนสังคมมากไปก็ไม่ได้ แล้วจะทำยังไงถึงจะมีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตขึ้นมาได้ มันคือการเอาความคิดว่า เราเป็นคนพิเศษ (ที่ลัทธิโลกสวยมักคอยพูดว่าทุกคนพิเศษ) ออกไป ความจริงแกมันก็แค่คนธรรมดาคนหนึ่งแหละ ถ้าคิดอยากจะทำอะไรให้สำเร็จ จงมุ่งมั่น โฟกัส และใส่ความพยายามลงไป สุดท้ายจึงได้เข้าใจว่า อีโก้ลดลงน่ะดีแล้ว แต่เป้าหมายยังคงต้องชัดเจน

ในหนังสือบอกว่า การตั้งค่านิยมของชีวิตนั้นสำคัญมาก และการดำเนินตามค่านิยมที่ยืดถือยิ่งโคตรสำคัญ ค่านิยมเป็นเหมือนหางเสือคอยควบคุมพฤติกรรมของเราให้ไปตามนั้น ค่านิยมไม่มีผิด ไม่มีถูก แต่มีดี มีเลว ถ้าจะวัดจากผลกระทบทางสังคม มันอยู่ที่แต่ละคนจะเลือก บางคนอยากเลือกใช้ชีวิตแบบมนุษย์สังคม แม้หาความเชื่อใจได้ยากหน่อยก็ไม่เป็นไร บางคนอาจเน้นสังคมที่เชื่อใจได้มาก เปิดใจพูดตรงไปตรงมา แต่มีวงในแวดวงจำนวนน้อย บางคนอยากมีชีวิตแบบมีเมียหลายคน บางคนอยากมีชีวิตแบบมีเมียคนเดียว หรือบางคนอาจจะไม่อยากมีเลยก็เป็นได้ ก็แล้วแต่ละคนจะตั้งใจให้มันเป็นแบบไหน

และไม่ว่าค่านิยมที่คุณเลือกจะเป็นอย่างไร คุณจะต้องรับผิดชอบต่อทุกการกระทำที่เกิดขึ้นจากค่านิยมนั้นๆ โดยไม่มีเงื่อนไข

ตอนท้ายเล่มหนังสือได้แนะนำแนวทางการเลือกค่านิยมเอาไว้อย่างน่าสนใจ นั่นคือให้เลือกค่านิยมที่ใช้ความตายเป็นเป้าหมายสุดท้าย เหตุผลก็เพราะมันเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุดในชีวิตคนเรา หากเราตั้งเอาความตายเป็นเป้าหมายสุดท้าย แล้วออกแบบค่านิยมในการใช้ชีวิตให้สอดคล้องออกมาแล้ว ก็จะมองเห็นภาพอย่างชัดเจนเลยว่า แท้จริงแล้วเราควรจะแคร์สิ่งใดกันแน่ในการดำเนินชีวิต เพื่อจะได้จัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง

เป็นหนังสือที่ช่วงต้นเล่มขำๆ บ้าๆ บอๆ พอกลางเล่มเริ่มอธิบายถึงพื้นฐานความรู้ที่จำเป็นต้องมีเพื่ออ่านต่อให้เข้าใจ และปิดท้ายด้วยเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับตอนกลางเล่ม เป็นเนื้อหาอธิบายให้เข้าใจถึงโลกตามความเป็นจริง (ในแบบที่หนังสืออ้าง) และการออกแบบค่านิยมการดำเนินชีวิตให้สอดคล้อง

แนะนำหนังสือเล่มนี้อย่างยิ่งสำหรับมนุษย์โลกสวยที่มีความรู้สึกว่าอยากทำอะไรเต็มไปหมดแต่อัตราความสำเร็จต่ำเหลือเกิน บางทีคุณอาจจะต้องออกจากความฝัน ลืมตามองดูโลกให้เห็นตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้โฟกัส ให้ความสำคัญกับการทำในสิ่งที่มีความหมายกับชีวิตของคุณจริงๆ เมื่อได้มุ่งมั่นจริงจังทำสิ่งที่ต้องการให้สำเร็จอย่างเต็มความรู้ความสามารถแล้ว ความสำเร็จที่คาดหวังย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป

Tags: