แนวคิดเรื่องการแก้ปัญหา “วิกฤตการณ์ขาดแคลนโปรแกรมเมอร์”

จากการที่ได้ไปสอนน้องๆ ป.ตรี เมื่อวาน และได้ทดลองอะไรหลายๆ อย่างระหว่างการสอน มีจุดหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ น้องๆ จะให้ความสนใจเป็นพิเศษในช่วงของการแนะแนว แนะแนวว่า ออกไปข้างนอก จะเจออะไร จะต้องเตรียมตัวยังไง

มันทำให้ผมฉุกคิดกลับไปถึงสมัยที่ยังเรียนอยู่เหมือนกันว่า ความเป็นจริงเราก็อยากรู้เหมือนกันนะว่า จบไปแล้ว “จริงๆ” เราอยากจะเป็นอะไรกันแน่ แล้วที่เราเป็นอยู่ เราขาดอะไรบ้างถึงจะได้เป็น

ซึ่งจากสภาพปัจจุบันคือ เด็กๆ ยังหาตัวตนไม่เจอกัน ไม่ใช่แค่เด็กที่ผมไปสอน แต่เป็นเด็กส่วนใหญ่ของประเทศ คือมีน้อยมากจริงๆ ที่ไปคุยแล้วจะมองเห็นแววตาอันมุ่งมั่น ซึ่งในท้ายที่สุด ผมไม่คิดว่ามันผิดที่เด็กไม่เอาไหน ไม่สนใจโลก เพราะเมื่อวานก็เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า เด็กก็ห่วงอนาคตตัวเองเช่นกัน

เพียงแต่ว่า ไม่สามารถมองเห็นได้เลยว่า ออกมาทำงาน มันเป็นยังไง ชีวิตการเป็นมนุษย์เงินเดิน มันเป็นยังไง ส่วนใหญ่ก็เห็นแต่การ์ตูนล้อชีวิตขำๆ ซึ่งนั่นมันเป็นแค่เสี้ยวเล็กๆ ของชีวิตคน พอมองไม่เห็นอนาคตที่ชัดเจน ก็ยากจะวางแผนเตรียมตัวให้พร้อม สุดท้ายผลผลิตที่ออกมาจากมหาวิทยาลัยจึงด้อยคุณภาพ และเกิดเป็นวิกฤติการณ์ขาดแคลนโปรแกรมเมอร์อย่างที่เราเจอกันอยู่ (วิกฤติการณ์นี้ มันไม่ได้เกิดจากไม่มีเด็กจบคอมฯ แต่เด็กที่จบใหม่มันคุณภาพไม่ถึง)

ผมคิดว่าการจะทำให้เด็กๆ ได้เห็นว่าเขาต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง คือผู้ใหญ่ที่ทำงาน ต้องลงไปเจอเด็ก ไปแนะแนวเด็ก ให้เด็กได้เห็นว่า เขาจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ควรมีการกลับไปเจอ กลับไปพูดคุยกับน้องๆ จับมาให้ลองให้ฝึกใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือจริงๆ ไม่ใช่ได้ลองจับเฉพาะเครื่องมือเก่าๆ ที่หลักสูตรสอนกันอยู่ พี่ๆ ควรเข้าไปในมหาวิทยาลัย เข้าไปแบ่งปันประสบการณ์ เอาแบบผิวๆ ก็พอ ให้น้องได้รู้ว่าโลกนี้มีอะไรที่ต้องเรียนรู้บ้าง อย่างน้อยวันไหนมีไฟกลับบ้านไปเปิดคอมไปทดลองเล่นดูเองบ้าง จะได้ฝึกทักษะกระบวนการคิด กระบวนการลองผิดลองถูก ซึ่งสำคัญมากในการทำงาน

ผมเชื่อว่าถ้าเราช่วยกัน แบ่งเวลาทำงานไปช่วยกันปลูกเมล็ดพันธุ์ทางความคิดให้น้องๆ กันบ้างอย่างต่อเนื่อง ร่วมมือกับอาจารย์ ขอให้มอบเวลาบางส่วนให้ได้เข้าไปแนะแนว และให้พาเด็กออกไปเจอโลกข้างนอกบ้าง ผมเชื่อว่าในเวลาไม่นาน (ไม่น่าเกิน 2 ปีซะด้วยซ้ำ) เด็กๆ เหล่านั้นจะกลายเป็นนักพัฒนาที่มีคุณภาพ และปัญหาขาดแคลนโปรแกรมเมอร์ของเราจะลดลงไปได้อย่างมาก

ตัวเด็กก็อยากมีอนาคตที่ดี
บริษัทก็ต้องการเด็กคุณภาพ
มหาวิทยาลัยก็อยากเป็นแหล่งบ่มเพาะคนที่ดี
ประเทศชาติก็ต้องการนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แล้วเรามัวแต่รออะไรกันอยู่?

Tags: ,