บทเรียนจากการสั่งงาน: เมื่อคำว่า “ทำอันนี้หน่อย” ไม่พออีกต่อไป

ช่วงหลังนี้ ผมได้ตกผลึกบทเรียนสำคัญเรื่องการสั่งงาน ที่ผมเองได้สัมผัสทั้งจากคนอื่นและด้วยตัวเอง ในหลากหลายรูปแบบแบางครั้งการสั่งงานแบบง่าย ๆ เช่น “ทำอันนี้หน่อย” “ทำอันนั้นหน่อย” ที่หัวหน้าหลายคนคิดว่าเพียงพอ มักจะทำให้งานออกมาไม่ตรงตามที่ต้องการ หลายคนโทษทีมที่ทำงานไม่ตรงเป้า แต่เมื่อมองให้ลึกลงไป กลับพบว่า ความคลุมเครือของคำสั่งนี่แหละ ที่เป็นปัญหาใหญ่ แทนที่มัวแต่จะโทษทีม ความจริงตัวหัวหน้าเองนั่นล่ะที่ต้องกลับมาพิจารณาตนเองในการสื่อสารด้วย

ในมุมนี้เอง การสั่งงานให้ชัดเจน จึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของหัวหน้าเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ในฐานะลูกน้องเอง ก็มีบทบาทไม่น้อยเช่นกันในการทำให้การทำงานราบรื่นและได้ผลลัพธ์ที่ดี

หน้าที่ของหัวหน้า: สั่งงานให้ชัด วัดผลให้ได้ เปิดใจรับฟังความคิดเห็น

การสั่งงานให้ชัดเจนไม่ใช่แค่บอกว่าต้องการอะไรเท่านั้น ตัวหัวหน้าเองจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า แท้จริงแล้วตัวเองต้องการอะไร และมีการวางแผนการอย่างชัดเจน การบอกที่มาที่ไป ความสำคัญ และเป้าหมายของงาน และสิ่งสำคัญ จะต้องเปิดรับฟังมุมมองที่แตกต่างได้ด้วย

  • บอกที่มาที่ไป: หัวหน้าต้องอธิบายเหตุผลว่าทำไมต้องทำงานนี้ ทำงานนี้ไปเพื่อแก้ปัญหาอะไร หรือเพื่อคว้าโอกาสอะไร การให้บริบทจะช่วยให้ทีมมองเห็นภาพรวมและความสำคัญของงาน
  • ตั้งเป้าหมายชัดเจน: หัวหน้าต้องบอกว่าผลลัพธ์ที่ต้องการจากงานคืออะไร และงานที่สำเร็จคือแบบไหน การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้ทีมรู้ว่าจะวัดความสำเร็จจากอะไร
  • แนะนำแนวทางหรือกรอบการทำงาน: หัวหน้าไม่จำเป็นต้องบอกทุกขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียด แต่จะต้องให้แนวทางหรือกรอบการทำงาน เพื่อให้ลูกน้องมีพื้นที่ในการคิดและสร้างสรรค์ การไม่เจาะจงวิธีการ อาจเป็นเพราะคาดหวังว่าลูกน้องจะมีส่วนร่วมในการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้เติบโตไปเป็นหัวหน้าได้ในอนาคต นอกจากนั้นยังช่วยให้อาจเกิดวิธีการแก้ปัญหาแบบใหม่ที่คาดไม่ถึง
  • บอกความคาดหวัง: บอกให้ลูกน้องรู้ว่าเราคาดหวังอะไร เช่น ระยะเวลาในการทำงาน คุณภาพงาน หรือทักษะเฉพาะที่ต้องการ สิ่งนี้จะช่วยให้ลูกน้องเข้าใจว่าควรเตรียมตัวและจัดการอย่างไร
  • การวัดผลและการติดตาม: กำหนดเกณฑ์ในการวัดผลงานและวิธีการติดตามงาน เพื่อให้สามารถประเมินผลงานได้ชัดเจนและเป็นธรรม ทั้งนี้การติดตามอย่างสม่ำเสมอจะช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

หน้าที่ของลูกน้อง: อย่าแค่รับคำสั่ง แต่ต้องช่วยคิด และปฏิบัติงานทำอย่างเต็มที่ด้วย

จากมุมของหัวหน้า ผมเข้าใจดีว่าลูกน้องหลายคนมักรอคำสั่งอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด แต่ผมอยากจะบอกว่า การทำงานที่ดีไม่ใช่แค่การทำตามคำสั่งอย่างเดียว แต่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และความรับผิดชอบในการนำงานไปให้ถึงจุดที่ดี

  • การสอบถาม: ถ้าสั่งงานมาไม่ชัด หรือมีข้อสงสัย ลูกน้องควรกล้าที่จะถาม หัวหน้าอาจไม่ได้ให้รายละเอียดทุกอย่างครบถ้วนเสมอ แต่การซักถามที่ตรงจุดจะช่วยป้องกันปัญหาและทำให้งานออกมาตรงตามเป้ามากขึ้น
  • ความรับผิดชอบ: ลูกน้องเองก็มีหน้าที่ในการคิดและทำงานให้รอบคอบเช่นกัน ไม่ใช่แค่รับคำสั่งและทำตามอย่างเดียว ต้องพยายามทำความเข้าใจว่างานนั้นต้องการอะไร และต้องทำยังไงให้งานนั้นออกมาดีที่สุด
  • เสนอไอเดียและวิธีการ: ผมมักคาดหวังว่าลูกน้องจะมีความคิดริเริ่ม ถ้าเห็นว่าวิธีที่ถูกสั่งไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด การนำเสนอแนวทางใหม่ ๆ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง นี่แหละคือสิ่งที่ผมมองหาในลูกน้องที่มีศักยภาพสูง

การทำงานคือการร่วมมือกัน

หลายครั้งเมื่อผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นไปตามที่คิด ความจริงแล้ว ทั้งหัวหน้าและลูกน้องต่างมีบทบาทในความรับผิดชอบ ในการทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จ การโทษกันไปมาจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น นอกจากนั้น ผมก็ได้เรียนรู้ว่าเมื่อหัวหน้าให้ข้อมูลไม่ครบ ลูกน้องก็สามารถช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปได้ด้วยการสอบถามและเสนอแนวทางเพิ่มเติม การเปิดใจรับฟังกันทั้งสองฝั่ง จะช่วยให้สามารถผลงานออกมาสำเร็จ

ในอีกทางหนึ่ง ทั้งหัวหน้าและลูกน้องต้องเปิดใจรับการฟีดแบ็กอย่างตรงไปตรงมา ถ้าผลงานออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ผมเชื่อว่าการทำงานไม่ใช่เรื่องของการถูกตำหนิ แต่เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนาและแก้ไขในครั้งต่อไป

บทสรุป: การสั่งงานที่ดีคือการร่วมมือกันทั้งหัวหน้าและลูกน้อง

ท้ายที่สุด ผมได้เรียนรู้ว่า การสั่งงานไม่ใช่แค่เรื่องของหัวหน้าที่ต้องบอกทุกอย่างให้ชัดเจน และลูกน้องเองก็ต้องไม่เป็นแค่ผู้รับคำสั่ง เราทุกคนในทีมมีบทบาทที่สำคัญในการช่วยกันให้งานนั้นสำเร็จ การสื่อสารที่ดี ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย และ การปรับตัวเข้าหากัน คือกุญแจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงของทีม

เป็นหัวหน้า อย่าให้โดนว่า สั่งงานไม่รู้เรื่อง
เป็นลูกน้อง อย่าให้โดนว่า ทำงานไม่รู้จักคิด

ขอให้เราได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน

Tags: