เผชิญหน้ากับความขัดแย้ง และปรับความเข้าใจ

การถูกมองว่าเจตนาและการกระทำดีที่ตั้งใจทำลงไปนั้นเป็นเรื่องร้าย ความเสียหายต่อความรู้สึกเป็นระดับเดียวกับการรู้สึกถูกหักหลัง ก่อให้เกิดความสูญเสียความเชื่อใจต่อกัน แต่จะต่างกันตรงที่การหักหลังนั้นใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแล้ว จับต้องได้ ส่วนการถูกมองว่าร้ายนั้นเท่าที่สังเกตมักเกิดจากความเข้าใจผิด ซึ่งมักจะแก้ไม่ยากผ่านการเจรจาปรับความเข้าใจ

หากพิจารณาให้ดีแล้ว ปัญหาไม่ได้เกิดจากเจตนาของคนที่พยายามทำดี แต่เป็นเพราะการทำดีของแต่ละคนก็มีมุมมองที่แตกต่างกัน รวมเข้ากับการไม่สามารถรับรู้ความรู้สึก และพยายามเข้าใจมุมมองของอีกฝ่าย เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างไม่ก้าวเข้าหากัน ความขัดแย้งเรื้อรังจึงบังเกิด

ปัญหาฟังดูเหมือนจะง่าย ถ้าเกิดในระดับอารมณ์ชั่ววูบในสเกลขนาดเล็ก ก็แค่ลดอีโก้ลงมาคุยตกลงกัน แต่กับในเหตุการณ์บางอย่าง สถาการณ์บางประเภท เมื่อพิจารณาดูแล้วก็ยากที่จะเกิดขึ้น เพราะมันอาจไปขัดแย้งกับ Core Value ในการดำเนินชีวิตของแต่ละฝ่าย และจะยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยหากต่างฝ่ายต่างถืออำนาจเป็นที่ตั้ง ต่างถือตัวเองเป็นสำคัญ เมื่อถึงจุดนี้กรรมการจึงต้องเข้ามามีบทบาท กฎหมายจึงต้องเข้ามามีบทบาท เพื่อใช้ควบคุมพฤติกรรมความก้าวร้าวที่อาจจะเลยเถิดจนกลายเป็นปัญหาระดับสังคม

ถึงอย่างไรก็ดี เมื่อเกิดความขัดแย้ง ก็ควรพยายามลองนั่งลงมาพูดคุยปรับความเข้าใจกันก่อน ส่วนใหญ่แล้วในสังคมทุกคนล้วนมีเจตนาดีต่อกัน มีเป้าหมายที่ทำเพื่อความประสบความสำเร็จไปด้วยกัน จึงควรอย่างยิ่งที่จะรีบพูดคุยปรับความเข้าใจกันเมื่อเกิดข้อขัดแย้ง ก่อนต่างฝ่ายจะต่างปรุงแต่งความคิดจนปัญหาบานปลาย กลายเป็นการผิดใจกันในระยะยาว แล้วจะมานั่งเสียใจที่ไม่ได้ปรับความเข้าใจกันในตอนที่สายเกินไป

Tags: