การออกกฎอย่างมีประสิทธิภาพ

ในยุคปัจเจกชนเฉกเช่นปัจจุบันนี้
ทุกคนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น
การจะออกกฎให้ผู้คนปฏิบัติตาม
ต้องเน้นไปที่ประโยชน์สุขของคนในสังคมเป็นหลัก
มากกว่าความคิดเห็นของผู้มีอำนาจปกครอง
หรือขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา
โดยไม่รับฟังเหตุผลของผู้เรียกร้องอย่างลึกซึ้ง

สังคมจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อผู้คนในสังคมทำตามกฎระเบียบ
ถ้าผู้คนในสังคมเห็นแย้งกับกฎระเบียบที่มีอยู่
ก็คงเป็นเรื่องยากที่คนในสังคมจะปฏิบัติตาม
และเป็นไปไม่ได้ที่สังคมจะสงบเรียบร้อย

หน้าที่ของผู้ออกกฎจึงไม่ใช่การคิดว่าจะออกกฎอะไร
แต่เป็นการออกไปฟังความคิดเห็นจากคนในสังคมให้ได้มากที่สุด
แล้วเก็บเอามาคิดพิจารณาให้ตกผลึกว่า
จะออกกฎอย่างไรให้คนสังคมมีความพึงพอใจ
เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรมที่สุด
รวมไปถึงการสื่อสารหลักการและเหตุผลเพื่อให้คนในสังคมเข้าใจ

ถึงจะไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะทำให้ทุกคนในสังคมพอใจ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดไม่พัฒนา
วิธีการกำกับสังคม ให้เป็นไปในทิศทางที่เอื้อประโยชน์แก่ทุกคน
ให้ทั่วถึง ให้เท่าเทียม ให้ได้มากที่สุด

สังคมจะเดินต่อไปได้หาใช่เพราะผู้นำสังคมแค่บางคน
แต่เป็นเพราะผู้คนในสังคมที่เดินร่วมกัน
เพื่อให้สังคมได้ก้าวเดิน

คุณค่าของงาน ขึ้นอยู่กับมุมมองที่เรามีต่องาน

ถ้างานทำแล้วเป็นสุข แม้จะเยอะและยากเพียงใด หรือต่อให้อยู่นอกเวลาทำงาน คนก็ยินดีทำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ถ้างานทำแล้วเป็นทุกข์ ต่อให้จะน้อยและง่ายเพียงใด ต่อให้อยู่ในเวลาทำงาน คนก็ฝืนใจทำบ่นโอดครวญไม่อยากทำ

ปัญหาคือบางงานมันจะมาเราเลือกไม่ได้ มันจำเป็นต้องทำ ก็ต้องมีใครบางคนต้องทำ

โชคดีที่ความสุขความทุกข์เป็นเรื่องของมุมมอง อย่างน้อยเราสามารถควบคุมปรับมุมมองที่มีต่องานได้ด้วยตัวเราเอง

ความจริงก็แค่หยุดตีโพยตีพาย แล้วมาคิดพิจารณา เลือกมองงานในมุมมองที่สร้างสรรค์ หาทางทำให้มันสนุก มองถึงโอกาสในการเรียนรู้ ทำมันเพื่อพัฒนาตนเอง เพียงเท่านี้ทุกงานก็จะออกมาดี เป็นผลงานที่มีคุณค่า คนทำก็จะมีความสุข อนาคตก็มีแต่จะเติบโต

พูดง่าย แต่ทำยาก สุดท้ายถ้าหนีไม่พ้น ยังไงก็ต้องทำ แล้วจะมัวจมกองทุกข์อยู่กับมุมมองแย่ๆ เพื่ออะไร

ที่น่ากลัวไม่ใช่การต้องทำงานที่ไม่ชอบ
ที่น่ากลัวคือการไม่มีงานทำต่างหาก

ผลึกความคิดที่ได้จากหนังสือ เราทุกคนล้วนมีร้านเวทมนตร์อยู่ในใจ (Into The Magic Shop)

สมองรู้อะไรมากมาย แต่ความจริงอันเรียบง่ายก็คือ
สมองยังรู้อะไรได้อีกมากเมื่อทำงานร่วมกับหัวใจ

ในปัจจุบันนี้เราได้เรียนรู้ว่าสมองเป็นกลไกการทำงานหลักเกี่ยวกับความคิด
ช่วยตัดสินใจเรื่องต่างๆ ช่วยควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ส่วนหัวใจทำงานเป็นแค่อวัยวะที่คอยสูดฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
แต่ก็ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลใด มนุษย์เรากลับแทนความรู้สึกต่างๆ ว่าเป็นเรื่องของหัวใจ
หรือความจริงแล้ว สมองและหัวใจจะมีความเชื่อมโยงที่ลึกซึ่งกันมากกว่าที่เราคิด

หนังสือเล่มนี้เล่าถึงประวัติของประสาทศัลยแพทย์ (หมอผ่าตัดสมอง) คนซึ่ง
ซึ่งเคยเป็นเด็กชายที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจนและมีปัญหาที่สุด
แต่โชคดีได้พบกับผู้หญิงผู้เปี่ยมด้วยเมตตา ผู้ซึ่งรู้จักสุดยอดกลวิเศษ และถ่ายทอดให้กับเขา
กลที่ว่านั้นจะช่วยให้ผู้ที่ใช้เป็นสามารถได้สิ่งที่ต้องการ และกลนี้เป็นกลที่เกี่ยวกับการใช้หัวใจ

Continue reading

ผลึกความคิดจากหนังสือ พันครั้งที่หวั่นไหวกว่าจะเป็นผู้ใหญ่

อายุที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้คนกลายเป็นผู้ใหญ่
หากแต่เป็นประสบการณ์ ความเจ็บปวด และวิธีการคิด ต่างหาก

เรื่องหนึ่งที่ทุกคนหนีไม่พ้นคือการโตเป็นผู้ใหญ่
แต่การเป็นผู้ใหญ่นั้นก็ไม่ได้ง่ายตรงไปตรงมา
ความคาดหวังจากตัวเอง คนรอบตัว และสังคม
ทำให้คนๆ หนึ่ง ที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ่ออนุบาลน้ำอุ่นมาตลอด
ออกมาเจอโลกความจริงอาจถึงกับต้องช็อคน้ำกันได้
แต่สุดท้ายยังไงก็ต้องต่อสู้เอาตัวรอดต่อไปไม่มีทางอื่น

Continue reading

ช่วงเวลาของชีวิต กับ หนังสือที่ฉันอ่าน

เมื่อคืนก่อนนอนนั่งๆ คิดดูว่ามีอะไรที่เสียดายที่สุดที่ไม่ได้ทำมาตั้งนานแล้ว แล้วก็พบว่า เป็นเรื่องการอ่านหนังสือ

สมัยก่อนชอบคอมพิวเตอร์มาก ก็เลยเล่นแต่คอมฯ อ่านแต่เรื่องคอมฯ ก็รู้สึกโอเคแล้วสำหรับตอนเป็นเด็ก แต่เติบโตมาอย่างไร้ความรู้รอบตัว เพิ่งมาพบว่าโลกนี้มีอะไรอีกมากมายที่รอให้เราค้นหา

ความจริงตอนเป็นเด็กอยู่ที่บ้านก็มีคนอ่านหนังสือ พ่อก็อ่านหนังสือ อี๊ก็อ่านหนังสือ พี่สาวก็อ่านหนังสือ แต่เป็นหนังสือคนละแนวกับที่สนใจ สุดท้ายก็เลยไม่ได้มีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านหนังสือเท่าไหร่

ตอนมัธยมปลายตัดสินใจเลือกเส้นทางคอมฯ ถึงเริ่มเข้าร้านหนังสือไปซื้อหนังสือคอมฯ มาอ่าน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่สนใจ จนกระทั่งใกล้ๆ จะจบ ม. ปลายถึงค้นพบว่า ชอบอ่านหนังสือแนวธรรมะประยุกต์กับวิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้หามาอ่านเท่าไหร่เพราะไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ แค่อ่านแล้วเอ๊ะ ปรากฎการณ์เหนือธรรมชาตินี้ที่เคยเกิดกับเราก็เกิดกับคนอื่นนิหว่า หรือความจริงวิทยาศาสตร์จะไม่ใช่ทุกอย่าง และธรรมะที่เห็นกันทั่วไปก็ไม่ใช่อย่างที่มันควรจะเป็น

Continue reading

การตัดสินใจคว้าโอกาส

พูดถึงเรื่องการตัดสินใจคว้าโอกาส
มักมีคนพูดถึงเรื่องนี้กันอยู่บ่อยๆ 2 แนวคิด

  1. อย่าปฏิเสธโอกาส เพราะเราอาจมองไม่ออกว่าโอกาสที่เข้ามานั้นสุดท้ายอาจจะดีพลิกชีวิตเลยก็เป็นได้
  2. อย่าสูญเสียโฟกัส ถ้ารู้แล้วว่าเป้าหมายที่จะไปอยู่ที่ไหน ต้องทำอะไร จงมุ่งมั่น ตั้งหน้าตั้งตาไปให้ถึงจุดหมาย

ปัญหาคือ
วิธีแรก ทำแบบนี้ ไปไม่ถึงฝัน เพราะจับปลาหลายมือ ความเชี่ยวชาญสู้คู่แข่งไม่ได้
วิธีสอง ปิดโอกาส พลาดโอกาส ไม่ได้ใช้ศักยภาพตัวเองอย่างเต็มที่ ทำสำเร็จได้แต่เรื่องเล็ก

มันคงจะดีถ้ามีหลักการที่ผสมผสานกันสักหน่อย

Continue reading

สรุปคร่าวๆ เกี่ยวกับหนังสือ The Hard Thing About Hard Things

เล่มนี้อ่านจบรอบแรกไปเมื่อปลายปี 2018 เป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ
ตอนนั้นรู้สึกแค่ว่า ก็เป็นหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่ง
ส่วนปีนี้ (2020) เพิ่งอ่านจบเวอร์ชั่นภาษาไทยไป แต่ความรู้สึกของรอบนี้คือโคตรอิน!
ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอ่านภาษาไทยแตกฉานมากกว่า หรือเพราะได้เจอของจริงจากการทำงานจริง

นี่คือหนังสือที่ผู้ประกอบการทุกท่าน สมควรอ่านอย่างไม่ต้องสงสัย
รวมไปถึงผู้จัดการที่มีทีมงานต้องดูแลถ้ามีเวลามาอ่านก็ดี
เพราะมีเทคนิคการจัดการบริหารหลายอย่างที่มาเรียนรู้ได้

Continue reading

ผลึกความคิดที่ได้จากหนังสือ The Last Lecture

ถ้าคุณเป็นพ่อของเด็ก 3 คน ที่ยังไม่พร้อมรับการถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้เพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ พร้อมกับภรรยาอันเป็นที่รักอีกหนึ่งคน แล้วคุณถูกตรวจพบว่าคุณเป็นโรคร้ายจะมีชีวิตอยู่ได้อีก 1 ปี คุณเลือกที่จะจัดการกับชีวิตของทุกคนในครอบครัวอย่างไร?

แรนดี เพาช์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ถูกตรวจพบว่าตนเป็นเหยื่อของมะเร็งตับอ่อนที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ เปรียบเหมือนได้รับคำเตือนล่วงหน้าว่าจะเหลือชีวิตอยู่ได้อีกแค่ไม่กี่เดือน เขาเลือกจะใช้ทักษะความสามารถในการสอนของเขา เพื่อทำการบรรยายครั้งสุดท้าย หรือที่เรียกว่า “The Last Lecture” เพื่อถ่ายทอด ชีวิต บทเรียน ประสบการณ์ ที่เขาได้ประสบพบเจอมาตลอดชีวิต ให้กับลูกๆ ของเขาในอนาคต ภรรยา ลูกศิษย์ คนรอบตัว ไปจนถึงผู้คนทั่วโลก

หนังสือเล่มนี้เล่าถึงชีวิตของ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ผู้ที่โชคดีเกิดในครอบครัวที่มีพ่อแม่ที่เป็นผู้ทรงปัญญาและมีความเมตตาแต่สังคมอย่างยิ่ง ที่คอยให้คำสอนและคำแนะนำและเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เขา นอกจากนั้นก็ยังได้พบว่าโค้ช อาจารย์ เพื่อน และลูกศิษย์ที่ดี ที่คอยให้คำแนะนำ เป็นกระเงาสะท้อนภาพตัวเอง ออกมาเป็นบทเรียนชีวิต และถูกถ่ายทอดออกมาในหนังสือเล่มนี้

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนหัวกระทิแห่งปัญญาที่พ่อคนหนึ่งอย่างจะถ่ายทอดชีวิตของเขาให้กับลูกๆ ของตนที่ยังไม่พร้อมจะเรียนรู้ในอนาคต เพื่อที่วันหนึ่งลูกๆ ของเขาโตขึ้น จะได้รู้ว่า พ่อของเขาเป็นคนอย่างไร มีมุมมองความคิดอย่างไร และรักเขามากเพียงใด

ความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ว่าสักวันมันจะต้องมาถึง แต่คนส่วนใหญ่จะไม่คำนึงถึงเพราะคิดว่ามันยังเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากตัว จึงยังเลือกใช้ชีวิตไปในทิศทางที่อาจนำพาไปสู่ความเสียใจในภายหลัง
การอ่านหนังสือที่ถ่ายทอดมุมมองความคิดของผู้ที่ได้มองเห็นธงของความตายนั้น ทำให้เราได้เห็นว่า แท้จริงแล้ว สำหรับคนหนึ่งที่ได้ใช้ชีวิตมาจนถึงวันที่เขารู้ตัวว่าเวลาเหลือไม่มากแล้ว มีอะไรบ้างที่เขาภูมิใจ เสียใจ และอยากถ่ายทอดเอาไว้ให้กับชนรุ่นหลัง เพื่อจะมอบไว้ให้เป็นบทเรียน เป็นเข็มทิศ แก่พวกเรา ที่จะต้องต่อสู้ดำรงชีวิตกันต่อไป

Continue reading