มุมมองของผมต่อสภาวะ Burnout

วันนี้ระหว่างกินเลี้ยงบริษัท
พนักงานรุ่นพี่ท่านหนึ่งถามคำถามที่ทำให้ผมต้องขบคิดอย่างหนัก
ทำเอา CPU สมองผมรันเต็ม 100% ไปสักพักหนึ่ง
คำถามนั้นก็คือ เวลาผม Burnout จัดการกับตัวเองอย่างไร
อยากขอบคุณท่านพี่สำหรับคำถาม ไม่ว่าจะถามเล่นหรือถามจริงก็ตาม
แต่มันจุดประกายทำให้ผมต้องขบคิดตลอดเส้นทางขับรถกลับบ้าน
จึงอยากจะขอมาเขียนแบ่งปันมุมมองผ่านทางนี้ถึงผลึกความคิดที่กลั่นออกมา

แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องจัดการอย่างไร ขอว่ากันเรื่องวัฒนธรรมองค์กรกันก่อน
ในสภาวะตลาดที่เหล่าพนักงานที่มีความสามารถพิเศษ (Talent) เป็นมนุษย์ทองคำ
เป็นที่ต้องการของทุกองค์กร การรักษาตัว Talent ไว้กับองค์กรจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะทุกองค์กรก็มาแย่งตัว Talent เหล่านี้กันถึงในบ้าน
การ Burnout จึงเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างหนักในวงการ HR
โดยเฉพาะช่วงที่ Start Up กำลังเข้าสู่ยุคเฟื่องฟู คนสายคอมฯ ย้ายงานกันเป็นว่าเล่น

ผมยอมรับนะว่า บริษัทที่ดูแลพนักงานให้มีความสุข ก็เป็นเรื่องที่ดี
แต่ก็ไม่ได้แปลว่า บริษัทที่ไม่ทำเรื่องเหล่านี้ คือเรื่องที่ผิดเช่นกัน
เหตุเป็นเพราะวัฒนธรรมแต่ละองค์กรนั้นแตกต่างกัน
องค์กรแต่ละประเภท เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรคนละแบบ
แล้วแต่ละแบบ ก็ล้วนมีข้อดี ข้อเสีย เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน
ไม่ว่าจะวัฒนธรรมแบบไหน ก็ย่อมจะมีกลุ่มพนักงานที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมแบบนั้นเสมอ
ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับบริบททั้งสิ้น ทั้งผู้บริหาร สภาพตลาด สถาการณ์เศรษฐกิจ ฯลฯ
ดังนั้นผมจึงมองว่าเรื่องวัฒนธรรมองค์กร ไม่มีผิด ไม่มีถูก มันอยู่กับสถาการณ์
ตราบใดที่องค์กรยังมั่นคงไปต่อได้ พนักงานส่วนใหญ่ทำงานอยู่ได้
ก็ถือว่าน่าจะมีวัฒนธรรมที่โอเคอย่างน้อยก็ในแบบของมันระดับหนึ่ง
ผมไม่อยากให้คาดหวังความสมบูรณ์แบบที่ไม่มีอยู่จริง

อย่างไรก็ดี เรื่องคนหนึ่งที่ทำงานจะ Burnout นี่ ไม่ได้มีแต่เรื่องทำงานหนัก
สำหรับบางคน ไปอยู่องค์กรที่สบายๆ ก็ Burnout ได้เช่นกัน ผมเองก็เจอมาก่อน
ดังนั้นจะคุยกันเรื่องนี้ ต้องนิยามกันให้ดีว่า Burnout แบบไหน เพราะอะไร
เอาเป็นว่า เราจะมุ่งประเด็นเรื่องการ Burnout จากงานหนัก รับแรงกดดันมากก็ละกัน

* จากจุดนี้ไปนี่คือประสบการณ์และความคิดเห็นส่วนตัวล้วนๆ ไม่มีหลักวิชาการใดๆ ทั้งสิ้น อย่าเอาใช้ไปอ้างอิง

สภาวะ Burnout นี่ต้องยอมรับว่าผมเองก็ผ่านมันมาหลายครั้ง
เจอทั้ง Burnout แบบเพราะชิลเกิน
และ Burnout แบบเผาไหม้จิตใจจนดำเป็นตอตะโกตามชื่อเรียก
แต่ลองเปลี่ยนคำว่า Burnout เป็นคำว่า ช่วงที่สภาพวะจิตใจอ่อนแอ ดู
ปัญหาเรื่อง Burnout จะกลายเป็นเรื่องปรกติทั่วไปในทันที
เพราะทุกคนก็ต้องเจอกันอยู่ทั้งสิ้น เพียงแต่บางช่วงหนักและนานกว่าปรกติ

มันช่างเป็นเรื่องธรรมชาติที่ชีวิตคน ที่จะมีช่วงขึ้นและลงเหมือนคลื่นในทะเล
บางช่วงมีความสุข ก็เฮฮาสนุกสนาน (คนมักจะไม่ค่อยจดจำสนใจช่วงนี้)
บางช่วงมีความทุกข์ กดดันต้องกัดฟันแก้ปัญหา (คนมักจะชอบจำเรื่องอะไรพวกนี้กัน)
คำถาม แล้วในเมื่อรู้ว่า ชีวิตมันขึ้นๆ ลงๆ แล้วคุณจะไปจมอยู่กับมัน เพื่อประโยชน์อันใด?
สมัยก่อนตอนออกมาทำงานใหม่ๆ ผมก็ตกใจมากนะตอนสัมผัสการ Burnout ครั้งแรก
ความรู้สึกเหมือนตัวเองจะเป็นจะตาย รู้สึกโลกกำลังจะแตก ทุกอย่างมันดำมืดไปหมด
แต่พอเวลาผ่านไป หันกลับไปมอง มันก็เท่านั้นแหละวะ เราก็ผ่านมันมาได้ทุกครั้ง

โดยเฉพาะตั้งแต่เป็นสิ่งที่เรียกว่าผู้ประกอบการขึ้นมานี่ เรื่องพวกนี้ยิ่งหนักขึ้นทุกวัน
ทั้งในแง่ความรุนแรง และความถี่ ยิ่งองค์กรใหญ่ขึ้น ยิ่งพนักงานมากขึ้น ยิ่งหนักหนา
ต้องต่อสู้กับความเครียด ความกังวลนับครั้งไม่ถ้วน
มีขึ้นสูง ลงต่ำ ไม่น้อยกว่าสองสามรอบต่อสัปดาห์ และบางวันก็ขึ้นลงวันละหลายรอบ
บางครั้งปัญหากินเวลานานหลายเดือน หรือข้ามปี
แต่สุดท้าย พวกเราก็ผ่านมันมาได้ทุกครั้ง

ยิ่งตอนต้องกลับมาแก้ปัญหาธุรกิจของครอบครัว
ช่วงแรกๆ ยอมรับเลยว่าเครียดหนักมาก
กินไม่ได้ นอนไม่หลับ มีปัญหากับคนรอบตัวไปทั่ว
แถมก็ยังมีเหตุการณ์เลวร้ายไม่คาดฝันเข้ามารุมล้อมเต็มไปหมด
ในสภาวะย่ำแย่แบบนี้ เราต้องมีสติรู้ตัว รู้ว่าเป้าหมายคืออะไร
ศักยภาพเราทำได้เท่าไหน และอะไรคือสิ่งสำคัญที่ต้องทำก่อนคืออะไร

ใช้เวลาพิจารณาให้ดีว่าเป้าหมายเราคืออะไร กำหนดเงื่อนไขการต่อสู้ให้เรียบร้อย
แล้วปฏิญาณกับตัวเองเอาไว้เลยว่า จะยึดถือเป้าหมายนี่เอาไว้เป็นหลักในการดำรงชีวิต
ตราบใดที่สถาการณ์ไม่ลงตามเงื่อนไขยกเว้นที่เคยตกลงกันเอาไว้ เราจะไม่มีวันยอมแพ้
ระหว่างทาง ไม่ว่าจะล้มสักกี่ครั้ง ฉันจะลุกกลับขึ้นมาใหม่
ถ้าวันไหนลุกไม่ไหว ฉันก็จะหาทางลุกให้ขึ้นให้ได้ สักทาง แค่ขอเวลาให้คิดก่อน
ถอดอีโก้ตัวเองออกให้หมด แก้ปัญหาอะไรเองไม่ได้ ต้องวิ่งเรื่องหาคนเข้าช่วย
ต่อให้ต้องลงไปกราบใครเพื่อให้ปัญหามันลุล่วง ฉันก็จะทำมัน

เมื่อเวลาผ่านไป เออ มันก็ผ่านไปว่ะ อีกครั้งที่รอดมาได้
จนตอนนี้สภาพจิตใจมันปรับรูปร่างกลายเป็นอีกสภาวะไปละ
มันรู้ตัวนะว่า มีปัญหาอยู่ แต่มันไม่ได้กังวลจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ
หรือต้องไปบังคับอะไรบางอย่างให้เป็นไปอย่างที่ตัวเองต้องการเสมอ
อะไรจะเป็นก็ให้มันเป็นไป ตราบใดที่ยังบรรลุเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ได้เช่นเดิม ก็ถือว่าผ่าน
และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมตอบคำถามว่าจัดการกับการ Burnout ยังไง
เพราะส่วนตัวลืมไปแล้วว่า Burnout คืออะไร
มันเหลือแต่คำถามว่า ช่วงที่สภาวะจิตใจตกต่ำ เราต้องทำอย่างไร

ช่วงแรกๆ ที่ลงมาแก้ปัญหา
มีประโยคที่พ่อแม่ผมพูดออกมาแล้วทำให้ผมช็อคมากคือ
“อดทนไปก่อน เดี๋ยวมันก็ผ่านไปได้ แม่กับป๊าก็ผ่านกันมาได้ตลอด”
ทั้งสมอง ทั้งใจ ทั้งปาก ผมนี่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
เพราะรอบนี้มันใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมามากๆ

แต่พอมองกลับไป มันก็มีประเด็นน่าขบคิดนะ
ถ้าคิดว่ามันจะไม่รอด จะมีประโยชน์อะไร
ถ้าคิดว่าเราถูกเอาเปรียบ จะมีประโยชน์อะไร
ถ้าคิดว่าชีวิตแม่งบัดซบ จะมีประโยชน์อะไร
สถาการณ์ย่ำแย่อยู่ตรงหน้า เราต้องไม่พาใจไปย่ำแย่ตามสถาการณ์
ไม่รู้พ่อแม่ผมที่พูดออกมาคิดยังไง แต่นี่คือสิ่งที่ตกผลึกได้

มันทำยากแหละ
หลายคนที่ติดตามผมมาก็เห็นอยู่สภาพตอนนั้นผมเป็นเช่นไร
แต่แล้วสุดท้ายมันก็ผ่านมาได้จริงๆ นะ (อย่างน้อยก็มาถึงทุกวันนี้)
ที่รอดมาได้ ไม่ใช่การรอคอยโชคชะตา
มันคือการลงมือแก้ปัญหาอย่างสุดความสามารถที่ตัวเองมี
ทุ่มเท แรงกาย แรงใจ ปรับวิธีคิด วิธีทำงาน ตามเท่าที่ทำได้

สุดท้ายไม่มีใครรู้หรอกว่า มันจะรอดไปอีกนานไหม
ปีเดียว สามปี ห้าปี สิบปี หรืออาจจะยั่งยืนอยู่ได้เป็นหลายสิบปี
แต่หากถึงวันหนึ่งหากมันเกิดล้มเหลวขึ้นมา
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ถึงวันนั้นอย่างน้อยใจเราก็รู้ว่า เราทำเต็มที่แล้ว
จะไม่มีคำว่าเสียดายออกมาจากปากอย่างแน่นอน

ดังนั้น หากจะให้ผมสรุปว่า ผมแก้ปัญหาการ Burnout อย่างไร คงสรุปให้คำตอบว่า
ให้มีสติรู้ตัวตลอดเวลา รักษาสมดุลชีวิต และเลือกทำสิ่งที่จะไม่ทำให้รู้สึกเสียดายในภายหลัง
ส่วนที่เหลือ จะจัดการอย่างไร ค่อยๆ ทบทวนคิด แล้วสถาการณ์ในตอนนั้นจะเป็นคนบอกคุณเอง

อย่างไรก็ดี ก็ขอฝากความเป็นห่วงถึงกลุ่มคนที่ทุ่มเทเกินร้อยว่า
การมีสติรู้ตัว รู้ข้อจำกัดของตัวเอง เป็นเรื่องสำคัญ
หากหักโหมเกินไป ร่างกายทรุดโทรม จิตใจแหลกสลาย
ก็ไม่มีประโยชน์อันใด ที่จะทำการเช่นกัน
เพราะคุณจะรู้สึกเสียดาย
อยากทำงานได้มาก ต้องมองหาวิธีฟื้นฟูสภาพจิตใจและร่างกายตัวเองที่มีประสิทธิภาพสูงสุดให้ได้
จะได้มีแรงกลับมาทำงานให้ลุล่วงตามตั้งใจ

แต่ก็ขอฝากถึงมนุษย์สายชิลสายบอบบางทั้งหลายเช่นกัน
หากคุณไม่ฝึกจิตใจแข็งแกร่งตั้งแต่วันนี้
โดนนิดโดนหน่อยร้องโอดโอยโวยวาย
ในวันที่คลื่นลูกใหญ่ถาถมเข้ามาในชีวิตของคุณ
คุณจะล้มแบบไม่มีโอกาสได้ลุกกลับขึ้นมาเลย
โลกการทำงานมันไม่ใช่บ่ออนุบาล ไม่ใช่เกมคอมพิวเตอร์
ทุกคน เล่นจริง เจ็บจริง บางคน ซวยจริง จบชีวิตได้จริง
ไม่มีปุ่มกดเริ่มเล่นใหม่ ทำได้อย่างเดียว ล้มแล้วลุกขึ้นมา เอาใหม่อีกครั้ง

ทางที่ดี รักษาสมดุลทุกด้านเอาไว้ให้ได้
มีปัญหาอะไรก็ระบายออกมาบ้าง
ถ้าทำถูก ก็ชื่นชมตัวเองบ้าง
ถ้าทำผิด ก็ยอมรับ หาทางแก้ไขปัญหาให้เป็นระบบ
หมั่นรับงานยากเข้ามาทำ มองมันให้เป็นความท้าทายในชีวิต
มองหาและประเมินทรัพยากร วิธีแก้ปัญหาให้รอบด้าน
พยายามบริหารทรัพยากรที่มีให้เต็มที่
และสำคัญ พยายามนอบน้อมให้ได้มากที่สุด
เพื่อที่จะได้เปิดรับวิธีแก้ปัญหาอย่างที่เราคาดไม่ถึง

จงหมั่นท้าทายศักยภาพตัวเองอยู่เสมอในทุกด้าน
เพื่อเตรียมความพร้อมคว้าโอกาสอันไม่คาดฝัน
ที่จะเข้ามาพร้อมกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้นในวันที่คุณไม่ทันตั้งตัว

Tags: ,