สรุปความคิดที่ได้จากหนังสือ ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง

เมื่อไม่นานมานี้ผมเพิ่งอ่านหนังสือจบไปหนึ่งเล่มที่เหมาะมากสำหรับตัวผมเอง มันเป็นหนังสือที่ปรับวิธีคิดเรื่องการพูดคุยกับมนุษย์คนอื่นๆ โดยพื้นฐานแล้วผมเป็นคนจริงจังเกินไป ชอบคิดอะไรอยู่คนเดียวมากกว่าไปร่วมวงสนทนา และไม่แคร์ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับเรากับการที่เราคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง เพราะเห็นว่าไม่ได้ตรงกับจุดประสงค์และเป้าหมายชีวิตที่กำลังจะไป

แต่ความจริงแล้วมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ยังไงเราก็ต้องพูดคุยกับคนอื่นให้ได้ คือคนที่มันไม่จำเป็นต้องคุยจริงๆ ก็แล้วแต่ แต่ถ้าเป็นคนที่ควรคุยแต่ดันคุยไม่ติดแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรกับการทิ้งโอกาสบางอย่างไป เพราะโอกาสส่วนใหญ่ก็มาจากคนเนี่ยแหละ

ดังนั้นพอมาถึงจุดนี้ก็ต้องพัฒนาการสื่อสารแล้วล่ะ แต่ด้วยความที่เป็นอีกแบบมาตลอดชีวิต แถมยังไม่ใช่สิ่งที่ถนัดจนถึงอาจเรียกว่าเป็นปมด้อยซะด้วยซ้ำในสมัยก่อน จึงเป็นทักษะที่ยากเลยแหละสำหรับการพัฒนา

พอได้มาเจอหนังสือเล่มนี้ ก็เหมือนเจอคนที่ได้ฝ่าฟันปัญหาแบบเดียวกันนี้มาแล้ว ได้มาสรุปอย่างเป็นระบบระเบียบให้ได้ทบทวนและลองปฏิบัติ จะได้ไม่ได้ อีกเรื่องนึง แต่ผมอยากให้ท่านๆ ที่อยากพัฒนาเรื่องการพูดคุยเรื่องทั่วๆ ไป ให้เป็นคนที่ใครก็รู้สึกดีที่ได้เข้ามาคุยด้วย ได้ลองอ่านกันดู


การบกพร่องในการสื่อสาร มีอยู่จริง และน่าเห็นใจผู้มีปัญหา

ผู้เขียนเล่าว่า สมัยก่อนเขาเป็นคนพูดไม่เก่งเลย แต่สุดท้ายเขามาเป็นนักจัดรายการวิทยุที่ต้องคุยกับคนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกับคนแปลกหน้าได้ นี่มันไม่ธรรมดานะ

เขาได้ทบทวนถึงสมัยก่อน เขาไม่ชอบคุยกับใคร รู้สึกประหม่าสุดๆ แล้วก็ศึกษาถึงปัญหาในการสื่อสารนั้น มันมีอยู่จริง และคนเป็นกันเยอะเสียด้วย คนที่เป็นจะมีลักษณะความคิดประมาณว่า ไม่อยากพูดกับคนอื่น เพราะคิดว่า เขาไม่ได้อยากฟัง เขาไม่ได้สนใจ ไม่รู้ว่าจะพูดเรื่องอะไร กลัวเขาจะรำคาญ เชิงๆ นี้ สุดท้ายก็เลยจบลงด้วยการไม่พูดซะเลย

แต่ความจริงแล้ว มนุษย์ทุกคน ถ้าสภาพอารมณ์ปรกติดี ย่อมอยากพูดคุยกับคนที่เป็นมิตร คุยด้วยรู้สึกดี คำถามคือ แล้วจะเริ่มพูดอย่างไรให้มันไปได้เรื่อยๆ ให้มันสามารถพูดคุยไปได้อย่างต่อเนื่อง ให้เขารู้สึกอยากคุยกับเรา และให้เขาได้ความรู้สึกดีๆ จากการได้พูดคุย นั่นคือสิ่งที่หนังสือเล่มนี้ช่วยแนะนำ

การสร้างบทสนทนาที่ดี เป็นทักษะที่พัฒนากันได้

โชคดีอย่างหนึ่งที่ การพูดคุย มันเป็นทักษะ คำว่าทักษะ หมายความว่า มันสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ พัฒนาได้ด้วยการศึกษาวิธีการ และฝึกฝนให้ช่ำชอง

อย่างแรกที่ต้องทำก่อนเลยคือการเปลี่ยนวิธีการคิด เราต้องคิดว่า เราอยากสร้างบทสนทนาที่ดีระหว่างกัน อย่าคิดไปเองว่าเขาจะไม่อยากคุยกับเรา ให้คิดว่า ทำยังไงเขาถึงจะอยากคุยกับเรา และถ้าเราไม่สามารถทำได้ ก็อย่าได้ทำโทษตัวเองไปเลย ให้เก็บความผิดพลาดมาทบทวนเพื่อครั้งหน้าจะได้ทำให้ดีกว่าเดิม

การพูดเป็นเกมที่ต้องร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย

ผู้เขียนได้เปรียบเทียบว่าการคุยกันก็เหมือนการเล่นเกม ที่มีคนสองคน แต่เป็นเกมที่ไม่มี แพ้-ชนะ มีแต่ ชนะ-ชนะ หรือ แพ้-แพ้ การที่คนสองคนคุยกันจนเข้าถึงรสถึงชาติ นั่นคือการชนะทั้งสองฝ่าย แต่กลับถัน ถ้าคุยแล้วดันเถียงกัน ทะเลาะกัน แบบนั้นก็จะได้รับความรู้สึกที่ไม่ดีกลับมากันทั้งคู่ ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วคือการแพ้ทั้งคู่ เราจึงควรทำชนะในทุกเกม ไม่มีเหตุผลดีๆ สักข้อที่เราจะทำร้ายความรู้สึกคนอื่นด้วยคำพูดของเรา เพราะวิธีการพูดมันมีทางไปที่ดีของมันเสมอ

วิธีการปฏิบัติให้ได้ก็คือ การแกะความต้องการข้างในของมนุษย์ เราต้องเข้าใจว่า มนุษย์เรานั้น ความจริงมีคุณสมบัติบางอย่างที่จะสามารถทำให้เขาอยากคุยได้ เช่น การได้เล่าถึงเรื่องที่เขาสนใจหรือเชี่ยวชาญ การได้เล่าถึงสิ่งที่เขารู้สึกดี อย่างความสำเร็จต่างๆ การได้รู้สึกว่า เขาได้ให้ประโยชน์กับเรา โดยการให้เขาสอนและแนะนำเรา

ถามคำถามที่เขาอยากพูด แล้วตั้งใจฟัง

หน้าที่ของเราก็คือ ต้องสังเกตลักษณะของเขาให้ละเอียด ลองหว่านคำถามหาหัวข้อสนทนาที่ดีให้เจอ เพื่อที่จะได้รู้ว่าเขาชอบพูดคุยเรื่องอะไรกันแน่

เมื่อหาเจอแล้ว ก็ตั้งใจฟัง ฟังอย่างเป็นจริงเป็นจัง เรียนรู้จากสิ่งที่เขาเล่ามาให้เข้าใจ แล้วถามคำถามให้บทสนทนามันลึกลงไปเรื่อยๆ ถามว่า เขามีมุมมองอย่างไรถ้าเป็นอย่างนี้ๆ แล้วพอเป็นอย่างนี้แล้วจะไปต่ออะไรยังไง ให้เขาได้คิด ได้แสดงความคิดออกมา ต้องหมั่นคอนสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของคู่สนทนาเสมอ

ห้ามพูดแทรก มีอะไรเออออ เอาไว้ก่อน ค่อยไล่เก็บงานตอนหลังเขาพูดจบ ในเมื่อเราฟังเขาแล้ว เขาก็ย่อมมีโอกาสให้เราได้พูดกลับไปเช่นกัน

ในทางกลับ ถ้าไปเจอคนที่คุยไม่เก่ง หรือไม่ค่อยมีอะไรเล่าให้เราฟัง เราก็อาจจะต้องสลับบทกลายเป็นคนนำบทสนทนาเสียเอง ลองสังเกตแววตา ท่าทาง หาให้เจอว่า เขาสนใจอยากพูดคุยเรื่องอะไรกับเรากันแน่ ถ้าพบแล้วก็เล่ามุมมองของเราให้เขาฟัง ในแบบที่เขาอยากฟัง แล้วก็ลองสลับกันให้เขาเล่าของเขาบ้างเป็นจังหวะ เป็นได้แบบนี้แล้วก็จะคุยกับใครก็ได้

คุยเรื่องอะไรดี ถามคำถามอะไรดี

ปัญหาอย่างหนึ่งของคนพูดไม่เก่งคือ ไม่รู้ว่าจะพูดเรื่องอะไร ผู้เขียนได้แนะนำหัวข้อที่ปลอดภัยเอาไว้ ได้แก่ • สภาพอากาศ • งานอดิเรก • ข่าว • การเดินทาง • คนรู้จัก • ครอบครัว • สุขภาพ • ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ • งาน • เสื้อผ้า • ที่อยู่อาศัย ลองเลือกเรื่องพวกนี้ไปเริ่มบทสนทนาดู ลองสังเกตคู่สนทนา เอาอันที่คิดว่า พูดไปแล้วจะมีเรื่องคุยกันต่อยาวๆ

คำถามหนึ่งที่หนังสือยกตัวอย่างและผู้เขียนบอกว่าเป็นคำถามที่ดีมากคือ ไปตัดผมมาหรอ เพราะเป็นคำถามที่มีประโยชน์รอบด้าน คือ ไม่มีใครจำไม่ได้ว่าตัวเองไปตัดผมมา มันเป็นการแสดงออกถึงการสนใจถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเขา และทางออกของคำตอบก็สามารถทำให้ดีได้ทั้งสองทาง ถ้าเขาตัดมาจริงก็พูดได้แน่นอนอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามั่ว เขาไม่ได้ตัดมา ก็ยังมีทางหลบให้ดีได้อยู่ดี แค่ได้ถามออกไปก็ได้คะแนนแล้ว

การพูดคุย ต้องจริงใจ และออกมาจากใจจริง

อย่างไรก็ดี การคุยกัน ต้องออกมาจากความรู้สึกจริงๆ ไม่ใช่เสแสร้งอยากจะคุย คือเราต้องมีมุมมองในสิ่งที่เราต้องการคุยในระดับ mindset เลย เพราะการเสแสร้งแกล้งคุย คู่สนทนาถ้าไม่ได้ซื่อมากนัก เขาก็จะจับความรู้สึกได้ แล้วถ้าเราพูดโกหกอะไรไปแล้วเขาจับได้ ก็จะมีปัญหาในภายหลัง ดังนั้นจึงควรพูดออกไปตามความรู้สึกจริงๆ

เรื่องที่ต้องคิดคือ จะพูดออกอะไร จะพูดเมื่อไหร่ จะพูดอย่างไร ให้มันออกมาดี การไม่เห็นด้วยกับเขา ไม่ผิด แต่ถ้าแสดงออกผิดๆ นั่นคือความล้มเหลว ถ้ารู้สึกว่า ไม่สามารถพูดออกมาให้มันดีได้จริงๆ ก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดไปเลยก็ได้ เพราะเราก็มีสิทธิ์ที่จะไม่พูด ไม่แสดงความคิดเห็น เช่นกัน

การพูดคุย จะต้องคอยดูบรรยากาศ และอารมณ์ของคู่สนทนาเสมอ การพูดคุยจะต้องทำเพื่อความรู้สึกที่ดีของคู่สนาทนาของเรา ไม่ใช่การพูดให้ตัวเองเป็นจุดเด่นสำคัญ

การโดนล้อเป็นเรื่องดี แต่การโดนเหยียดหยามไม่ใช่

สัญญาณอย่างหนึ่งของการเข้าถึงความสัมพันธ์ที่ดีแล้วคือ คู่สนทนาของเราล้อเล่นกับเรา ตบไปตบกลับได้ไม่โกรธกัน นั่นคือสัญญาณที่ดีของความสัมพันธ์ บางคนอาจรู้สึกไม่ชอบที่โดนล้อเป็นตัวตลก แต่ถ้าเรื่องที่เขาล้อมันไม่ได้เสียหายอะไร นั่นเป็นโอกาสดีในการพัฒนาความสัมพันธ์

ในทางกลับกัน ถ้าเรื่องที่เขาล้อ เป็นเรื่องที่คุกคามหรือทำร้ายชีวิตเรา แบบนี้เขาเป็นคู่สนทนาที่ไม่ดีแล้ว เพราะเขาไม่นึกถึงความรู้สึกของเรา เขาไม่ได้อยากให้ความสัมพันธ์เป็นบวก ต้องลองคิดหาการแสดงทางออกให้รู้อย่างเหมาะสม ถ้าลองดูแล้วไม่ดีขึ้น ก็ควรหลีกห่างกันออกไป ไม่มีประโยชน์จะไปคบคนที่ชอบเบียดเบียนคนอื่น

เชื่อใจคนอื่นให้ได้อย่างคนตาบอด

เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนยกตัวอย่างและผมชอบมากคือ เรื่องคนตาบอดมักมีลักษะนิสัยที่ Friendly กว่าคนทั่วไป และเป็นคนที่จริงใจและเชื่อใจคนอื่นอย่าง 100% เพราะว่าคนตาบอดจำเป็นจะต้องอาศัยคนตาดีในการดำเนินชีวิต เขาจึงมีความคิดที่ว่า ไม่ว่าคนตาดีจะช่วยเหลือเขาอย่างไร ก็จะต้องเต็มใจรับเสมอ มีความคิดว่าคนอื่นปราณาดีกับเขาเสมอ เขาจึงเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเชื่อใจผู้อื่น นอกจากนั้นยังเล่าให้ฟังถึงรุ่นพี่ที่ตาบอดแต่สามารถยิงมุกตลกต่างๆ ออกมาได้อย่างถึงน้ำถึงเนื้อตลอด อ่านดูแล้วทำให้ผมรู้สึกดีไปด้วยจริงๆ เมื่อคนตาบอดยังเชื่อใจคนอื่นได้อย่าง 100% ได้ แล้วทำไมคนตาดีจึงไม่ทำกัน ถ้ามันเป็นเรื่องที่ดี

สิ่งที่ควรทำเพื่อให้บทสนทนาราบรื่น

ชื่นชมคู่สนทนา แสดงความรู้สึกทึ่ง และสนุกเข้าไว้ ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดจากความจริงใจ ไม่เสแสร้ง

แล้วที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องเปิดโอกาสให้เขาพูด พูด พูด ส่วนเราก็ ฟัง ฟัง ฟัง ยิ่งสามารถทำให้บทสนทนาเป็นรูปแบบนี้ได้มากเท่าไหร่ก็คือมาถูกทางแล้ว

สิ่งต้องห้าม ถ้าอยากได้การพูดคุยที่ชนะเลิศ

ห้าม การโกหก พูดโอ้อวด ขัดคอ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่จะนำพาการพูดคุยที่ดีไปลงเหว พยายามพูดคำว่า “ไม่” ให้น้อย เพราะคำว่าไม่ เป็นการพูดขัดคอโดยเราอาจไม่รู้ตัว แต่ให้ใช้การเสนอความคิดแทน เช่น ผมคิดว่า.. อะไรพวกนี้

อีกเรื่องสำหรับคนที่มีชอบเล่าเรื่อง อย่าลืมว่า การพูดคุยที่ดี คือการให้คู่สนทนาของเราได้มีส่วนร่วมในการพูดได้ ดังนั้นเราหายื่นโอกาสให้เขาพูดด้วย ทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดีบ้าง อย่าทำตัวเป็นจุดเด่นของวงสนทนา เปลี่ยนจากอยากถ่ายทอด เป็นอยากฟังมุมมองของเขาให้มากกว่า แล้วการพูดคุยจะราบรื่น มีการสลับการพูดสลับการฟังอย่างเหมาะสม


สรุป

การที่ความจริงแล้วคนเราพูดไม่เก่ง ความจริงอาจเกิดจากแค่ยังไม่รู้จักวิธี การพูดคุยที่มีประสิทธิภาพ เท่านั้นเอง หลังจากได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะเหล่านี้ ก็จะสามารถพูดคุยได้อย่างดี ไม่ต่างอะไรกับการได้ทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตมาอีกอย่าง

สุดท้ายหนังสือเล่มนี้เป็นการแนะนำเกี่ยวกับการพูดคุยให้สนุกสนาน ถึงน้ำถึงเนื้อเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการพูดคุยทางธุรกิจและการพูดในที่สาธารณะ ซึ่งจะใช้ทักษะและวิธีการที่แตกต่างกันออกไป

สำหรับโพสนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สรุปออกมาจากหนังสือ ผสมกับความคิดและประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง ซึ่งความเป็นจริงในหนังสือก็มีรายละเอียดอีกมากมายที่ผมข้ามไป ท่านใดที่กำลังประสบปัญหาเรื่องการพูดคุยอย่างที่อ่านกันมาแล้ว หรือเป็นคนพูดจาไม่สนุก แล้วคิดอยากจะพัฒนาตัวเอง ผมก็แนะนำให้ลองไปหาซื้อมาอ่านอย่างละเอียดดูครับ รับรองว่ามีประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว

Tags: , , ,