คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากทำงานสายคอมแต่จบไม่ตรงสาย และน้องๆ ที่เรียนกำลังเรียนใกล้จะจบ

สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้ง เนื่องจากมีเพื่อนๆ ผู้อ่านเข้ามาปรึกษาค่อนข้างมากในเรื่องของการย้ายมาทำงานสายคอม แต่ตัวเองไม่ได้เรียนจบคอม จะเป็นไปได้ไหม เรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกอย่างแรงกล้าเลยก็คือ สิ่งที่จะตัดสินว่าคนคนหนึ่งจะทำงานสายคอมฯ ได้หรือไม่ ควรจะเป็นความสนใจและสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์ของเขา ไม่ใช่ใบปริญญา ผมเองก็มีประสบการณ์รับคนนอกสายคอมเข้ามาทำงานหลายคน วันนี้จึงจะมาแบ่งปันประสบการณ์และความคิดเห็นเรื่องเกี่ยวกับมุมมองต่างๆ และสิ่งที่ต้องเตรียมว่าจะมาทำงานสายคอมจริงๆ จะย้ายมาได้อย่างไร ต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มบ้าง แล้วจะหางานได้อย่างไรถ้าเราจบมาไม่ตรงสาย วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องพวกนี้กันให้ถึงพริกถึงขิงกันไปเลยย

ถ้าคุณสนใจและมากความสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์ คุณก็ควรจะได้ทำงานด้านคอมพิวเตอร์ อย่าให้ใบปริญญามาตัดสินชีวิตของคุณ!

ก่อนจะไปกันต่อ ผมออกตัวไว้ก่อนว่า บทความนี้เป็นมุมมองส่วนตัวของผมเองล้วนๆ อาจมีการประชดแดกดันความเชื่อของสังคมในบางแง่มุม อีกเรื่องคือผมเองก็คนธรรมดาทั่วไป ไม่ได้วิเศษวิโสมาจากไหน ยังมีคนในวงการอีกมากที่ช่ำชองมากกว่าผมอีกแบบเทียบกันไม่ได้ ดังนั้นเมื่ออ่านมุมมองความคิดกันไปแล้ว ก็ขอให้นำไปพิจารณาเป็นประเด็นๆ ไปด้วยว่า สมควรจะเชื่อหรือไม่ ถ้ามีความคิดเห็นที่ต่างกันก็มาพูดคุยกันได้นะครับ แลกเปลี่ยนไอเดียกันจะได้มีมุมมองที่หลากหลาย ที่มาเขียนบทความนี้ก็เพียงต้องการอยากมอบแนวทางและกำลังใจกับคนที่ไม่ได้จบคอมพิวเตอร์แต่มีความสนใจ มีศักยภาพ แต่ยังขาดโอกาสและความเข้าใจ

อีกเรื่องคือขอแนะนำตัวเองหน่อยเพื่อผู้อ่านจะได้พอเห็นภาพว่ากำลังจะอ่านมุมมองจากคนแบบไหน ความจริงข้ามไปหัวข้อต่อไปเลยก็ได้ ผมว่ามันไม่ได้มีสาระอะไรนัก แต่เผื่อบางคนอยากจะรู้จักเห็นภาพให้ชัดเจนมากกว่านี้

คร่าวๆ เลยคือผมพบรักเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งแต่แรกพบตอนประมาณ 5 ขวบ และอาศัยอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก (โดยมีพ่อแม่เป็นคนขัดขวางความสัมพันธ์ของสองเรา อันนี้ล้อเล่นนะ 555) แต่ก่อนก็เล่นเกมแหละ แต่ก็พยายามทำอะไรแตกต่างจากเด็กทั่วไปหลายอย่าง เช่น ทำเว็บบ้าง บอท Ragnarok บ้าง แฮคเว็บชาวบ้านบ้าง เป็นนักเลงคีย์บอร์ดบ้าง ตามประสาเด็กเกรียนสมัยมัธยม ผมคิดอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไรให้คอมพิวเตอร์มันเป็นได้มากกว่าที่มันเป็น

ป.ตรี มีโอกาสเข้าเรียนวิทยาการคอมฯ ที่บางมด เปรียบดั่งเด็กบ้านนอกเข้ากรุงฯ มีความสุขขึ้นมากเพราะได้อยู่กับคอมมากขึ้น ได้คุยกับอาจารย์ (บางคน) ที่ให้มีความรู้เราได้จริง ไม่ใช่เจอหน้าก็บอกให้เราไปซ่อมคอมให้หน่อย (ความจริงการเข้าไปช่วยอาจารย์ซ่อมคอมฯ ทำให้ได้ต่อยอดความรู้คอมพิวเตอร์เยอะมากๆ) เขียนโปรแกรมเป็น รับจ้างอาจารย์เขียนโปรแกรมจนหาตังซื้อคอมใหม่เองได้ แต่หารู้ไม่ว่าความจริงมันเป็นเพียงกะลาที่ใบใหญ่ขึ้นกว่าตอนมัธยมก็แค่นั้น

พอจบก็อยากเรียนนอกบ้างแต่ภาษาอังกฤษห่วยจัด เลยไปเรียนภาษาอยู่ปีนึง แล้วไปสมัครมหาวิทยาลัยในอเมริการัวๆ แล้วก็ถูก Reject รัวๆ เลยถอดใจมาทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ก่อนละกัน แล้วก็พบว่ารู้งี้กูออกมาทำงานตั้งแต่แรกละ 555 ไม่ต้องเรียน ป.ตรี ก็ได้เถอะ เอาจริง

อย่างไรก็ดีความฝันอยากจบเอกก็ยังอยู่ (คือโดยส่วนตัวผมชอบพวกชอบพวกสะสมความรู้และศึกษาเรื่องวิชาการเอามากๆ) ก็เลยกลับมาเรียนวิศวะคอมฯ ที่บางมด สายทำวิทยานิพนธ์ ระหว่างเรียนก็ย้าย บ. มาทำงานแบบใกล้ชิดกับที่ ม. หน่อยเพราะว่าเรียนค่อนข้างหนักอยู่

จบ ป.โท เรียบร้อยทีแรกจะไปต่อเอก แต่ดันโชคดีมีโอกาสได้มาเจอพี่ๆ ชวนทำ Start Up ด้วยกัน ทีมโอเค จังหวะโอเค โอกาสแบบนี้นานทีมีครั้งก็เลยรับเอาไว้ (เรื่อง ป.เอก มันเป็นความมันส์ส่วนตัว จะกลับมาเรียนเมื่อไหร่ก็ได้) ทั้งที่ตอนนั้นทักษะเรื่องการบริหารก็ไม่ได้พร้อมนัก หลังจากเราก็ก่อตั้ง Credit OK มาด้วยกันจนกระทั่งปัจจุบันก็สามปีแล้ว

ซึ่งผมดำรงตำแหน่ง CTO รับผิดชอบตรงส่วนของตัดสินใจเรื่องทิศทางของทีมเทคโนโลยีและการเลือกใช้เทคโนโลยีของบริษัท คอย Support การทำงานของน้องๆ จึงมีหน้าที่ในการตั้งทีมขึ้นมาด้วย จึงได้มีโอกาสรับสมัครคน สัมภาษณ์คน เลือกคนที่เราคิดว่าใช่เข้ามาในทีม ซึ่ง Spec ของคนที่ผมอยากได้ร่วมทีมคือคนที่ ทำงานได้ พร้อมเรียนรู้ สู้งาน มีกรอบความคิดแบบพัฒนาได้

แล้วก็ได้ค้นพบว่า ระหว่างเด็กจบคอมฯ แบบงูๆ ปลาๆ ไม่ได้โดดเด่น กับคนที่ย้ายมาจากสายอื่นแต่สนใจคอมพิวเตอร์จริงๆ ผมเลือกอย่างหลัง เพราะกลุ่มหลังนี้เขารู้ว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร มีความมุ่งมั่นมากกว่า และเจอความจริงบนโลกมาบ้างด้วยจึงมักจะมีความอดทน มีความรับผิดชอบมากกว่า ไม่ใช่อะไรก็โบ้ยความผิดให้คนอื่นไปทั่ว

ทีมเทคในบริษัทของเราครึ่งหนึ่งจึงเป็นคนที่ไม่ได้จบสายคอมฯ มาทำงานคอมฯ ซึ่งทุกวันนี้ผมก็กล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่าทุกคนก็เป็นมืออาชีพกันหมดแล้ว ที่จะต่างกับน้องๆ ที่จบคอมฯ สายตรงมาก็จะเป็นเรื่องประสบการณ์สายตรงและทฤษฎีพื้นฐานบางอย่างที่ไม่ได้มีสอนในที่ทำงาน แต่ตราบใดที่ยังอยู่ด้วยกัน ก็จะมีโจทย์ที่ท้าทายเข้าขึ้นเรื่อยๆ ให้แก้ปัญหากันอยู่ตลอด ทุกคนก็เลยเติบโตและพัฒนากันขึ้นไปด้วยกัน ทั้งคน ทั้งทีม ทั้งบริษัท

เอาล่ะ จากที่อ่านมาถึงจุดนี้ก็พอเห็นคำตอบแล้วนะว่า ไม่ต้องเรียนจบคอมฯ ก็สามารถมาทำงานสายคอมได้ แต่มันก็ใช่ว่าเส้นทางจะราบเรียบ มันก็ต้องต่อสู้กันหน่อย ที่ผมจะเล่าไปให้มากกว่านั้นก็คือ แล้วทำไมจึงเป็นอย่างนั้นได้ แล้วจะทำอย่างไรถึงจะสำเร็จ เรามีเริ่มกันที่ประเด็นที่น่าจะร้อนแรงสุดๆ กันก่อนเลยดีกว่า


ทำไมใบปริญญาถึงไม่จำเป็นสำหรับสายคอมฯ ?

ขอออกตัวก่อนเลยว่าผมก็จบคอมฯ แถมจบทั้งวิทยาการคอมและวิศวะคอมอีกต่างหาก เรื่องที่เล่ากับตัวตนที่เป็นอาจดูย้อนแย้ง แต่ความจริงเกิดขึ้นคือผมได้ศึกษาและสำรวจทุกอย่างมาดีแล้วจึงกล้าออกมาเล่าให้ฟังว่า มันไม่จำเป็นจริงๆ

ส่วนเหตุผลที่ผมเรียนมันเป็นเพราะมันเป็นสิ่งที่ผมรักและผมมีเป้าหมายจะท้าทายตัวเองจนไปให้ถึงระดับ PhD หาได้เกี่ยวกับการออกมาทำงานแต่อย่างไร

โอเค ประเด็นหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า การเรียนคอมพิวเตอร์ตามหลักสูตรก็ทำให้เราได้ความรู้ในเชิงทฤษฎีคอมพิวเตอร์แบบเป็นเรื่องเป็นราว ได้ฝึกเขียนโปรแกรม ได้ฝึกการออกแบบในแบบทฤษฎี ซึ่งความเป็นจริงเรื่องพวกนี้หาเรียนรู้หรือหาอ่านเองเอาข้างนอกก็ได้ ไม่ต้องไปนั่งฟังในห้องเรียนก็ได้ ถ้าคาดหวังความรู้ในระดับออกมาทำงานได้อะนะ

สิ่งที่ผมมองว่ามีประโยชน์จริงๆ ในการเข้าไปในรั้วมหาลัยไม่ใช่ความรู้ที่ได้ออกมา แต่เป็นเรื่องของ Connection เสียมากกว่า ซึ่ง Connection ตรงนี้มันมีความพิเศษอย่างหนึ่งตรงที่ว่า มันเป็นคนที่รู้เรื่องคอมฯ ซะด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่เรียนด้วยกัน ที่ทำงานกลุ่มด้วยกัน รวมไปถึงอาจารย์ ซึ่งก็จะมีประโยชน์ในการเปิดโอกาสใหม่ๆ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับใบปริญญา มันเป็นเรื่องของโอกาส

โดยทั่วไปแล้ว ใบปริญญา คือใบรับรองว่าเรามีความรู้ในสาขาดังกล่าวมากพอจนได้รับใบนั้นมาได้ แต่คำถามของผมคือ คุณมองดูให้ดีซิว่า เด็กที่จบ ป.ตรี มาเดี๋ยวนี้ มีที่ตั้งใจจริงที่จะมาเรียนหนังสือเพื่อหาความรู้สักกี่เปอร์เซ็นกัน ส่วนใหญ่ก็มาเรียนตามคำแนะนำ มาเรียนตามความเชื่อว่าจะต้องเรียนอะไรบางอย่างจะได้มีงานทำ

ประเด็นนี้ผมมองว่าเด็กไม่ได้ผิดหรอกครับ เด็กก็คือเด็ก เพียงแต่เด็กต้องซวยต้องรับผิดชอบ Norm ของสังคมที่มันเป็นอย่างนี้เท่านั้นแหละ ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ไปพูดบรรยายที่มหาวิทยาลัย ผมจะเล่าให้น้องๆ ฟังเสมอว่า เราไม่ได้เข้าเรียนเพื่อที่จบมาจะได้มีงานทำ เราเข้าเรียนเพราะสนใจในสาขานั้นๆ เพื่อได้เข้าถึงอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อต่อยอดความรู้และพัฒนาศักยภาพของเรา เราต้องหาตัวเองให้เจอว่าเราชอบอะไรกันแน่

พอเหตุเป็นอย่างนั้น ผลก็คือ เด็กที่เข้าไปเรียนสายคอมฯ โดยเฉพาะกลุ่มที่การแข่งขันต่ำ ส่วนใหญ่จึงออกมาด้อยคุณภาพ เหตุผลมันตรงไปตรงมามาก ก็เด็กมันไม่ชอบเขียนโปรแกรม แต่มันดันต้องไปนั่งทนเรียนอยู่ตรงนั้น เป้าหมายก็ไม่ชัดเจน อาจารย์ก็ใช่ว่าจะสอนดีไปซะทุกคน นอกจากนั้นคุณก็รู้ว่าวัยรุ่นมันเป็นวัยฮอร์โมน เวลามันต่อต้านมันไม่สนอะไรทั้งนั้น สุดท้ายมันก็หลุดออกมาตามมีตามเกิด จนบางครั้งผมก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่า นี่พวกมรึงได้ใบประกาศนี้มาได้อย่างไร หรือนี่มรึงไปทำงานที่โรงพิมพ์แล้วเขาปริ้นมาให้ ทำไมตอนสัมภาษณ์ถามอะไรไปก็เคยผ่านหัวมาทั้งนั้นแต่ดันลงรายละเอียดไม่ได้สักอย่าง

นี่เป็นประเด็นที่ผมค่อนข้างเป็นห่วงจริงๆ นะ ผมเพียงอยากบอกน้องๆ ที่เรียนสายคอมว่า คุณเข้ามาเรียนแล้ว และนี่มันคืออนาคตของคุณหรือเปล่า ลองถามตัวเองให้ดี คุณพร้อมจะนั่งหลังขดหลังแข็งทำงานหน้าคอมฯ แล้วจริงๆ ใช่ไหม แน่ใจว่าคุณไม่ได้อยากไปทำอย่างอื่นมากกว่านี้แล้ว ถ้าคุณหาตัวเองเจอแล้วว่ารักที่จะทำอะไรกันแน่ และมันยังไม่สายเกินไป คุณออกไปทำสิ่งนั้นเถอะ ถ้าคุณรักในสิ่งที่คุณทำจริงๆ นะ ยังไงสุดท้ายคุณก็จะทำออกมาได้ดีกว่าคนทั่วไป แต่ถ้าคุณทำในสิ่งที่คุณไม่อยากทำ ผลงานของคุณออกมาอย่างเก่งมันก็แค่ผ่านมาตรฐานพอดี

สุดท้ายที่อยากบอกคืออย่าโทษอาจารย์ อย่าโทษผู้ใหญ่ อย่าโทษระบบการศึกษา รวมถึงไม่ต้องไปโทษตัวเองด้วยเช่นกัน การโทษอะไรใครใันไม่มีประโยชน์ ที่คุณเป็นก็แค่ซวยต้องรับผิดชอบสิ่งที่คุณไม่รู้ ในเมื่อคุณรู้แล้วว่าต้องค้นหาตัวเองให้เจอ ก็จงทุ่มพลังงานสมองในการคิดหาวิธีการหาตัวเองให้เจอ แล้วจะเอายังไงต่อไปกับชีวิต ถ้าทนต่อไป จะยอมปรับปรุงตัวและวิธีคิดให้มันดีขึ้นไหม ถ้าดูแล้วไม่น่าจะรุ่ง จะไปทำอะไรแทนดี อันนี้ต้องไปหาคำตอบกันเอง

ขออภัย หัวร้อนและออกจากประเด็นไปหน่อย ที่พูดไปก็เพราะผมเป็นห่วงทุกคนจริงๆ จากสภาพที่ผมเห็นอะนะ แต่นั่นมันเรื่องของพวกเด็กที่มันเลือกเรียนคอมไปแล้ว เรากลับมาเข้าข้างคนที่ไม่ได้เรียนคอมมาบ้าง

อีกประเด็นที่ทำให้ใบปริญญาไม่ได้มีประโยชน์ในการทำงานของคอมฯ ก็เป็นเพราะว่า เทคโนโลยีมันไปไวมาก มันไวในแบบที่ว่าคนในวงการที่ทำงานกันอยู่ทุกวันยังตามแทบไม่ทัน แล้วอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยจะไปเหลืออะไร คงไม่ต้องลงไปถึงเด็กที่เรียนรู้ต่อจากอาจารย์อีกทอด ดังนั้นคนอยู่สายคอมฯ จึงต้องพึ่งพาตัวเอง อ่านข่าวสาร ศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยตัวเอง ด้วยเหตุการนี้การมีกรอบความคิดแบบพัฒนาได้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการเติบโตในสายงานคอมพิวเตอร์ เพราะหน้าที่หลักของพวกเราคือการเป็นนักคิด นักแก้ปัญหา

คนจะทำงานได้ ต้องแก้ปัญหาในโลกความเป็นจริงได้ และสายคอมพิวเตอร์เราวัดผลกันที่คุณแก้ปัญหาที่เข้ามาได้หรือไม่ มีไอเดีย มีความสามารถในการแก้ปัญหามากพอหรือเปล่า แล้วลงมือทำจนสำเร็จได้หรือไม่ พูดง่ายๆ คือ ดูกันที่ผลของงาน ไม่ใช่ลมปาก ดังนั้นตราบใดที่คุณได้รับโจทย์ไปแล้วแก้ปัญหาออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ผมก็ถือได้ว่าคุณเป็นมืออาชีพในวงการ

ในทางตรงกันข้าม สำหรับผู้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน มีศาสตร์หนึ่งที่น่าสนใจจากการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย นั่นก็คือ การทำวิจัย การทำวิจัยคือการศึกษาค้นคว้าเจาะลึกลงไปในความรู้ทางด้านนั้นๆ สิ่งนี้จะช่วยให้คุณลึกมากๆ ความรู้ทางด้าน technical ของคุณจะลึกถึงจุดสูงสุดถ้าได้มีโอกาสทำวิทยานิพันธ์ ถ้าคุณคิดว่าเจ๋งจริง อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญทางสายคอมพิวเตอร์ที่เจาะลึกทางด้านใดด้านหนึ่งมากๆ อันนี้การเรียน ป.โท ป.เอก และทำวิทยานิพันธ์ก็จะมีประโยชน์ยิ่ง แต่ที่เรามาคุยกันนี้คือสายงานพัฒนาโปรแกรมทั่วไป ซึ่งการเรียนต่อแทบไม่มีประโยชน์อะไรเลย


สิ่งที่สำคัญสุดคือ ความหลงไหลในสายงาน

ความจริงแล้วการทำงานกินสัดส่วนเวลาเป็นอันดับที่ 2 ต่อจากการนอน ซึ่งเยอะมากๆ ดังนั้นคำแนะนำของผมจึงเป็น ทำยังไงก็ได้ให้การทำงานของคุณเป็นสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกมีความสุข

แน่นอน ถ้าเลือกได้ ทุกคนก็ย่อมเลือกที่จะมีช่วงเวลาความสุขมากกว่าช่วงเวลาแห่งความทุกข์อยู่แล้ว หรือสายที่ปลงกับชีวิตหน่อยก็อาจจะขอเลือกมีความสุขทุกข์ในแบบที่ราบเรียบหน่อย จะอย่างไรก็ดี เนื่องจากงานเป็นสัดส่วนใหญ่ของชีวิตคนเรา การได้ทำงานที่ตัวเองรักจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับชีวิตมากจริงๆ ไม่ว่าจะสำหรับใครและงานใดก็ตาม

สำหรับท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นคนที่สนใจคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว สำหรับคนที่หลงไหลในคอมพิวเตอร์มากจริงๆ วันๆ ก็นั่งอยู่หน้าจอเพื่อเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ผลงานอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่สามารถหารายได้เป็นเรื่องเป็นราว ลองคิดดูว่ามันจะดีขนาดไหนกันถ้าเราสามารถใช้ความชอบ ความถนัดของเรา ให้มีประโยชน์กับองค์ กับบริษัท ได้ไปอยู่ในที่ที่เขาต้องการเราจริงๆ ได้ทำงานกับทีมที่ดี รู้สึกอยากตื่นออกไปทำงานในทุกวัน และได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรม

ถ้าคุณสามารถพาตัวเองไปสู่สถาการณ์แบบนี้ได้ นี่ก็คือกำไรชีวิตแล้ว ช่วงเวลาทำงานก็จะเป็นเวลาที่มีความสุข อาจจะมีงานยากเข้ามาบ้าง อาจจะมีอุปสรรคเข้ามาบ้าง อาจจะต้องหงุดหงิด ต้องเสียใจเป็นบางครั้ง แต่สุดท้ายคุณก็ได้ทำในสิ่งที่รัก และผมว่านี่คือเรื่องที่ยอดเยี่ยมที่สุดแล้วสำหรับชีวิตการทำงาน

แต่ก่อนที่จะพาตัวเองกระโดดเข้าไปนั่งทำงานหน้าคอมฯ คุณต้องเอาให้ชัวร์นะว่า คอมพิวเตอร์คือสิ่งที่คุณจะฝากฝังชีวิตเอาไว้กับมันได้จริงๆ กล่าวคือ คุณไม่ได้อยู่หน้าคอมฯ เพราะว่าคุณรักที่จะสร้างผลงานด้วยคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เป็นแค่ผู้บริโภค

ผู้บริโภค vs ผู้ผลิต

เราสามารถแบ่งพฤติกรรมของคนออกได้เป็นสองกลุ่ม คือ ผู้บริโภค และผู้ผลิต

ผู้บริโภค คือคนที่เสพความสุขจากการซื้อสินค้าและบริการ เป็นคนที่ยอมจ่ายเงินเพื่อแลกสินค้าและบริการ

ผู้ผลิต คือ คนที่เสพความสุขจากการสร้างสินค้าและบริการ เป็นคนที่ได้รับเงินจากผู้บริโภคอีกทีหนึ่ง

ความจริงแล้วทุกคนเป็นจะเป็นผู้บริโภคอย่างแน่นอน เพราะไม่มีใครดำเนินชีวิตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น แต่เนื่องจากการบริโภคเป็นการนำเงินออกจากกระเป๋า เราจึงต้องคิดหาอะไรบางอย่างที่เราจะพอเป็นผู้ผลิตขึ้นมาได้บ้าง เพื่อเป็นสิ่งที่เราใช้ในการหาเงินเข้ากระเป๋า

ในโลกคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน มันมีทั้งสองฝ่าย ฝ่ายบริโภค การเล่นเกม การอ่าน การดู การเสพ Content จากผู้อื่นที่เขาผลิตเอาไว้ให้ นี่คือการบริโภค ส่วนฝ่ายผลิตก็คือฝั่งตรงกันข้าม ก็คือผู้ที่สร้าง Content เหล่านั้นให้คนเข้ามาเสพนั่นเอง

ดังนั้นความหลงไหลในสายงานที่ผมจะพูดถึงต่อจากนี้ คือความหลงไหลในการเป็นผู้ผลิตสิ่งต่างๆ ที่สร้างขึ้นได้โดยคอมพิวเตอร์ เพราะมันคงไม่มีประโยชน์อะไรถ้าคุณบอกว่า คุณชอบเล่นเกม แต่คุณไม่สามารถทำการเล่นเกมให้มันเป็นอาชีพขึ้นมาได้

การเป็นผู้ผลิตบนโลกคอมพิวเตอร์

ความจริงแล้วเราสามารถใช้คอมพิวเตอร์สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ได้มากมายหลายสิ่งอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น การเขียน Blog การถ่ายรูป การทำ Video ให้คนเข้ามาดู เหล่านั้นล้วนนับเป็นการเป็นผู้ผลิตทั้งนั้น ส่วนจะได้เงินหรือไม่ได้เงินก็อีกเรื่องหนึ่ง

แต่ในบทความนี้ผมจะเน้นไปถึงคนที่สร้างผลงานจากคอมพิวเตอร์ในกลุ่มของการพัฒนาโปรแกรม การสร้าง Platform ต่างๆ หรือจะบอกว่าเป็นแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์ก็ไม่ผิดนัก

ซึ่งก็มีสายงานจำนวนมากมายจริงๆ ตั้งแต่นักพัฒนาโปรแกรมที่เขียนโปรแกรมเพื่อดำรงชีพ ได้เงินจากการเปลี่ยนพลังงานจากกาแฟลงไปเป็น Code คนทำฝั่ง Data ที่วิเคราะห์หา Insights อะไรบางอย่างเพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ งานเหล่านี้เมื่อทำแล้วจะเกิดผลิตผลขึ้นมา สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ แล้วเมื่อผู้คนได้ประโยชน์จากงานของเรา ก็มีโอกาสที่เราทำเงินจากงานนั้นๆ

เป้าหมายต้องชัด ถามให้ชัวร์ว่าทำไมถึงเลือกสายนี้

ทีนี้จะเข้ามาในวงการ ผมว่าเป้าหมายของคุณต้องชัดนะว่า คุณจะเข้ามาโผล่ที่ตรงไหน จะเข้ามาสาย Data สาย Multimedia สาย Developer หรือจะสายอะไรก็ว่ากันไป ลองศึกษา Landscape ของสายงานคอมพิวเตอร์ให้ดีว่ามีอะไรบ้าง ลองศึกษาลึกลงไปว่าจริงๆ คุณหลงไหลในสายไหน แล้วจงมุ่งพัฒนาทักษะทางด้านนั้นอย่างต่อเนื่อง

อย่าลืมว่าหลังจากเลือกแล้ว คุณจะต้องนั่งหลังขดหลังแข็งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน (หรืออาจจะทั้งคืน) เอาให้ชัวร์นะว่าคุณพร้อมจะทุ่มเทให้กับสิ่งนี้

ถ้าอยากรู้ว่าคุณสนใจเรื่องไหนอยู่จริงหรือเปล่า ให้ลองถามตัวเองดูว่า ถ้าคุณมีเงินระดับพันล้าน สามารถกินอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงานไปตลอดชีวิต คุณจะไปทำอะไร และคุณจะยังทำงานนี้ต่อไปอีกหรือไม่


https://unsplash.com/photos/73_kRzs9sqo

ใช้ชีวิตเยียงคนที่อยู่ในวงการ

เรื่องต่อมาที่จะพูดถึงกันก็คือ ความจริงแล้วโลกของคนในวงการคอมพิวเตอร์และโลกของคนนอกวงการนั้นช่างต่างกันสิ้นเชิง ถ้าคุณเห็นคนหลังค่อมๆ สะพานเป้ใบโตๆ ใส่หน้าตาหนาๆ ไม่ค่อยสนใจโลกรอบข้าง ก็อาจจะพอเดาได้เลยว่านี่มันเป็นพวกมนุษย์ Geek (อาจไม่ได้เป็นแบบนี้ทุกคน แต่ก็เป็นแบบนี้กันเยอะ)

ความคิดของพวกเราไม่เหมือนคนทั่วไป เราเป็นคนที่มีความคลั่งไคล้ใฝ่รู้ในโลกคอมพิวเตอร์ที่เราสนใจ คนข้างนอกอาจจะมองว่า คอมพิวเตอร์คืออุปกรณ์ใช้ไฟฟ้าที่ช่วยให้เขาเข้าถึงข้อมูล และติดต่อผู้คนจากทั่วโลกได้ แต่สำหรับเหล่า Geek นั้น เราเห็นคอมพิวเตอร์ต่างออกไป เราเห็นมันเป็นเพื่อน เราเห็นมันเป็นห้องทดลองที่เราจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ลงไป อะไรก็ได้ ขอแค่นึกให้ออกว่าอยากทำอะไร เราก็จะหาทางทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นมาได้บนคอมพิวเตอร์

ความจริงโลกคอมพิวเตอร์นั้นเปรียบเหมือน The rabbit hole ในเรื่อง Alice in Wonderland มองจากภายนอกก็ดูไม่มีอะไร แต่ข้างในนั้นลึก ลึกมากจริงๆ และขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ด้วย โลกคอมพิวเตอร์เกิดจากนักพัฒนาทั่วโลกที่ทำงานร่วมกันผ่านทางอินเทอร์เน็ตอย่างไม่เคยหยุดพัก ด้วยเหตุนี้เทคโนโลยีต่างๆ มันถึงได้เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมาแทบจะตลอดเวลา

เมื่อมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมา แน่นอนก็จะต้องมีสิ่งเก่าๆ ที่ถูกลบออกไป ความจริงนี่เป็นปรกติของธรรมชาติ แต่โลกคอมพิวเตอร์นั้นพิเศษตรงที่ว่า สิ่งเหล่านี้มันเร็วเหลือเกิน บางภาษา บาง Framework มีอายุเพียงไม่กี่ปีก็ถูกตีจากลาโลกไปแล้ว เพราะมีของใหม่เข้ามาทดแทน คนที่ทำงานในสายนี้จึงต้องพัฒนาเองตัว พัฒนาความรู้ให้ก้าวทันเทคโนโลยีอยู่ตลอด


การตามข่าวสารเทคโนโลยีอยู่เสมอ

การอยู่วงการนี้ก็เหมือนเดินจับมาวิ่งบนลู่วิ่งที่เลื่อนไปข้างหน้าไม่เคยหยุด เมื่อไหร่ที่คุณหยุดวิ่ง คุณก็จะตก Trend ในเวลาอันไม่นาน จากประสบการณ์ของผมเราต้องคอยอ่านและติดตามข่าวสารเทคโนโลยีอยู่ทุกวัน การหยุดอ่านข่าวไปสัก 1 สัปดาห์นี่ก็คือว่าเป็นเรื่องอันตรายแล้ว จะต้องมาใช้กรรมวิ่งไล่กวด

ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้

สิ่งที่อ่านก็เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานที่เราทำเนี่ยแหละ อย่างเช่น ถ้าคุณเป็น Frontend Developer ที่ใช้ VueJS ในการพัฒนาโปรแกรม อย่างน้อยคุณก็ควรจะรู้ว่า VueJS ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว เวอร์ชั่นใหม่จะออกมาหรือยัง ถ้ามันกำลังจะออกมา มันมีอะไรดีขึ้นบ้าง แล้วเราควรจะย้ายไปใช้หรือไม่ เพราะอะไร ถ้าจะย้ายไป จะต้องใช้พลังงานมากขนาดไหน แล้วจะกระทบกับสิ่งใดบ้าง เรื่องพวกนี้ในฐานะ Professional Software Developer คุณต้องตอบได้ โอเคมันเป็นหน้าที่ของหัวหน้าของคุณที่จะตัดสินใจว่าจะไปหรือไม่ไป แต่มันก็ต้องคุณที่อยู่หน้างาน อยู่กับมันตรงนั้น ที่จะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเขา ให้เขาตัดสินใจ หรือแม้กระทั่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ตอนนี้เขายังเรียกมันว่า VueJS อยู่ไหม หรือเรียกแค่ Vue ธรรมดา หรือที่ผมว่ามานั้นผิดหมด อันนี้ก็ควรพอมีติดหัวไว้บ้างเป็นความรู้รอบตัว

อ่อ แน่นอน ชีวิตของคุณไม่ได้ใช้เครื่องมือแค่อย่างเดียวแน่ๆ เครื่องมืออื่นๆ ที่ใช้งานก็ต้องมีอีกเยอะมาก คุณก็ต้องคอยดูมันบ้างเช่นกัน อาจจะไม่ใกล้ชิดขนาดเครื่องมือหลักที่เราเชี่ยวชาญ แต่ก็ต้องติดตามให้ใกล้ชิดมากพอที่จะเตรียมตัวเตรียมใจถ้าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่มาถึง

สำหรับแหล่งข่าวที่จะต้องไปติดตามก็จะเป็นพวก Official Website, Official Blog, และ Communities ต่างๆ ทั้งบน Facebook, Twitter, Medium, Dev.to ตามเท่าที่จะมีให้อ่าน

ติดตามข่าวสารในแวดวงเทคโนโลยี

จะอ่านแค่ข่าวที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรงเห็นทีก็คงจะไม่ได้เห็นภาพกว้าง เราควรจะต้องติดตามข่าวสารเทคโนโลยีทั่วๆ ไปด้วย เพื่อให้ได้เห็นว่า ทิศทางของโลกที่เราอยู่จะเป็นอย่างไรต่อไป เพื่อที่จะได้มีการวางแผนเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงไว้ให้พร้อม

ตัวอย่างที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ค่อนข้างชัดก็เช่น ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณ 5 ปีก่อนเราพัฒนาไม่ได้ใช้ Docker กัน แต่ทุกวันนี้คนที่ไม่ได้ใช้ Docker พัฒนาดูเหมือนจะกลายเป็นของแปลกไปซะแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีก่อนก็คือ ไปเปิดอ่านข่าวต่างๆ เราจะเห็น Docker โผล่ขึ้นมาเต็มไปหมด สัญญาณมันชัดมากว่า เราควรจะเริ่มเรียนรู้ Docker ได้แล้ว ประโยชน์มันเยอะ เพื่อจะได้เอาพูดคุย เอามาใช้งานกับทีมเราเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

การอ่านข่าวพวกนี้จะช่วยให้เรามองเห็นทิศทางของโลก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัว นอกจากนั้นยังช่วยให้เรามีเรื่องคุยกับคนในวงการด้วย เพราะพวกสาย Hard Core ทั้งหลายเวลาคุยกันก็เรื่องอะไรพวกนี้แหละ คนส่วนใหญ่จะบ่นถึงสิ่งที่เจอในปัจจุบัน และพูดถึงอนาคตที่กำลังจะมาถึงก็จะช่วยให้เราคุยกับชาวบ้านรู้เรื่องได้มากขึ้น

แหล่งข่าวที่สำหรับ Dev ไทยจะต้องห้ามพลาดเลยคงเป็น blognone.com นอกจากนั้นก็ไปดูพวกเว็บต่างประเทศ เช่น hackernoon.com อะไรพวกนี้ก็ไม่เลว และสุดก็แน่นอนหนีไม่พ้นพวก communities ใน Facebook, Twitter, Dev.to, Medium

เวลาอ่านข่าว ผมอยากให้พยายามอ่านให้เข้าใจหน่อย เวลาที่เพิ่งเข้ามาในวงการจะเจอศัพท์ที่อ่านไม่รู้เรื่องเยอะไปหมด มันก็เหมือนเราเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศภาษาใหม่ล่ะ ค่อยๆ ศึกษา เจอศัพท์อะไรไม่รู้ก็ไปค้น Google ว่ามันคืออะไร สะสมไปเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งก็จะคล่องไปเอง

ออกไปงานสัมนาบ้าง

ช่วงนี้ Covid-19 ระบาด คงไม่มีงานสัมนาแบบจัดเป็นสถานที่สักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ใช่ว่างานพวกนี้จะหายไปหมดแล้ว งานพวกนี้ก็ยังมีจัดอยู่เรื่อยๆ

งานที่พูดถึงนี้จะแบ่งเป็นกลุ่มๆ เช่น..

งานจากฝั่ง Official เช่น Google จัดการสัมนา Google Cloud Platform งานสัมนาพวกนี้จะเน้นขายของ On-board คนเข้ามาใช้งาน ดีสำหรับมือใหม่ที่อยากจะ Expand ความรู้เพิ่มเติม แต่สำหรับ Professional ที่ใช้เครื่องมือพวกนี้เป็นประจำจะไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่ ส่วนใหญ่มักจะใช้เป็นข้ออ้างในการออกไปเจอเพื่อนฝูงไปหาของกินฟรีซะมากกว่า 555

งานจากฝั่ง Community พวกนี้ก็คือพวกนักพัฒนาจัดงานกันเอง ขนาดก็กลางๆ หัวข้อจะเจาะลึกลงมา มักจะเน้นที่ประสบการณ์การใช้งานจริง จะช่วยให้เราได้เห็นว่าคนในวงการเขาทำอะไรกันบ้าง แล้วเขาแก้ปัญหาต่างๆ กันยังไง งานกลุ่มนี้เข้าร่วมได้ทั้งมือใหม่มือเก๋า

งานจัดการเองขำๆ บางทีก็มีจาก Meetup บ้าง นัดคุยกัน กลุ่มเหล่านี้มักจะไปเจอกันกลุ่มเล็กๆ สภาพก็ตามมีตามเกิด ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ไปร่วมเป็นระดับไหน แต่ที่แน่ๆ คือถ้าไปกลุ่มเล็กๆ แบบนี้ จะได้ Connection ได้เพื่อนในวงการกลับมาแน่นอน

การออกไปเจอมนุษย์มนาบ้าง จะช่วยให้เราได้วัดขีดพลังได้เที่ยงตรงมากขึ้นว่า ตอนนี้เราอยู่จุดไหนแล้วของสังคม และมีอะไรบ้างที่ควรพัฒนาต่อ


พัฒนาตัวเอง หมั่นลับคมทักษะให้เฉียบอยู่เสมอ

การอ่านข่าวสารแม้จะได้ความรู้อยู่บ้าง แต่ก็เป็นความรู้แบบจากมุมกว้าง ไม่อาจนำมาใช้งานโดยตรงได้ ส่วนความรู้ที่สามารถใช้งานจริงได้ ก็มักจะได้ลงลึกไปกว่านั้น เช่น การศึกษาภาษาใหม่ๆ การศึกษาเครื่องมือใหม่ๆ เทคนิคใหม่ๆ และนี่ก็เป็นอีกอย่างที่คนสายคอมฯ ต้องหมั่นศึกษาเพิ่มเติมอยู่เสมอ

อย่างที่ทุกท่านทราบว่า สายงานทางด้านคอมพิวเตอร์นั้นเยอะมากๆ จะทำ Web ทำ Mobile App ทำหน้าบ้าน หลังบ้าน ทำ Infra ทำ DevOps มันเยอะแยะไปหมด เราควรจะมีความรู้ว่าแต่ละอย่างคืออะไร สำคัญอย่างไร แต่ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำให้เป็นทุกอย่าง เราควรจะเลือกสักอย่างสองอย่างมาเป็นสิ่งที่จะศึกษาเชี่ยวชาญ และลงลึกไปในสิ่งเหล่านั้น

ตัวอย่างเช่น สมมุติสนใจทำ Front End Web Application ก็ต้องเลือกอีกว่า สนใจทางด้าน Designer ที่จะต้องเน้นความรู้ด้าน HTML, CSS, SCSS ค่อนข้างมาก หรือจะมาฝั่ง Logical ที่จะต้องเน้นหนักทางด้านการใช้เครื่องมืออย่าง Angular, React, Vue (ถ้าสนใจเรื่องเว็บนี้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ทำ Web Application ต้องรู้อะไรบ้าง)

ซึ่งข้างในแต่ละเครื่องมือก็จะมีรายละเอียดยิบย่อยให้ศึกษาลึกลงไปเรื่อยๆ จากแค่นั่งดู YouTube ก็เขียนเป็นสร้างเว็บได้ กลายเป็นเริ่มเจอปัญหาที่หนังสือต่างๆ หรือ Doc ที่มีแก้ไม่ได้ ทีนี้ก็ต้องเริ่มไปถามเองใน Stack Overflow เมื่อสะสมความรู้ประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ก็อาจจะไปถึงขั้นเริ่มเข้าไป Pull Request กับ Community ใน GitHub หรืออาจจะสร้างของขึ้นมาให้คนอื่นใช้ และนั่นก็คือสุดๆ ละ

เดี๋ยวๆ กลับมาก่อน ชักจะฝันไปไกลเกิน เรากลับเริ่มกันที่ ทำยังไงถึงจะเรียนรู้ได้ดี ผมเคยเขียนบทความหนึ่งที่อาจจะพอเป็นแนวทางได้ไว้เมื่อนานมากละ ลองไปอ่านกันได้ที่นี่นะครับ เทคนิคการเรียน Programming ให้เร็วและมีประสิทธิภาพ

การมีความรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตในสายนี้ อย่ายึดติดกับเทคโนโลยี

อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในวงการนี้คือ เทคโนโลยีเคลื่อนไปข้างหน้าไวมาก และนอกจากมันยืดไปข้างหน้าแล้ว มันยังทำให้ของเก่าๆ Obsolete หรือตกยุคใช้งานไม่ได้แล้วอีกต่างหาก

กล่าวโดยสั้นก็คือ เราเห็นคนแห่ไปเรียนเทคโนโลยี A เราก็เรียนไปเรียนบ้าง ใช้จนเชี่ยวชาญ ทำงานได้ ผ่านไป 5 ปี เทคโนโลยี B ออกมาทดแทนเทคโนโลยี A แล้วคนก็แก้ย้ายไปใช้กันหมด รวมไปถึงเด็กจบใหม่จบมาปุ๊บก็ใช้เทคโนโลยี B เป็นเลย คำถามคือ ถ้าเราไม่เรียนเทคโนโลยี B แล้วจะอยู่ไปได้อีกนานเท่าไหร่?

นี่คือเหตุผลที่คนทำงานทางสายนี้จะต้องติดตามข่าวสารและศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย โอเคเราอาจจะเห็นเทคโนโลยี B เริ่มมาแรงแล้ว เราก็ควรเริ่มจัดให้การศึกษาสิ่งนี้เข้ามาอยู่ในแผนการในอนาคต เมื่อไหร่ที่มีวันว่างยาวๆ เช่น วันหยุดปีใหม่ วันสงกรานต์ แทนที่จะไปเที่ยวแย่งกันกิน แย่งกันอยู่กับชาวบ้าน เปลี่ยนมาเป็นลองศึกษาและสร้างโปรเจคเล็กๆ ขึ้นมาแทนด้วยเทคโนโลยี B สิ่นวันหยุดยาวก็จะได้ Skill เพิ่มมาอีกหนึ่งอย่าง แล้วถ้าวันไหนอยากจะไปเที่ยวพักผ่อนค่อยลางานไปก็ได้ คนโล่งๆ ได้เที่ยว ได้พักผ่อนแบบชิลๆ

เลือกเครื่องมือให้ถูกกับงาน แต่ก็อย่าให้มันหลากหลายมากเกินไป

อันนี้คือฝั่งตรงข้ามกับคนที่ยึดติด คนนี้เขาจะสนุกสนานในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นอย่างมาก เขียนโปรแกรมเป็นแทบทุกภาษา เคยผ่านมือมาแล้วหลายสิบ Frameworks รู้หมดว่าตัวไหน เหมาะกับงานอะไร จึงสามารถเลือกเครื่องมือที่โคตรเหมาะกับงานนั้นๆ ขึ้นมาใช้ตลอด (อย่างกับเข้าไป Shopping ที่ร้าน Daiso)

เอาล่ะ ประเด็นเรื่องเลือกเครื่องมือให้เหมาะกับงานนี่ก็เป็นเรื่องดี เพราะบางภาษาหรือบางเฟรมเวิร์คก็เหมาะกับบางงานมากกว่าอีกตัวหนึ่ง บางทีเราต้องการงานที่ต้องการ Performance สูงๆ ไปใช้ภาษาอย่าง Python นี่ก็จะมีชีวิตที่ลำบากหน่อย หรืออยากจะทำ back end web ง่ายๆ แต่ต้องถึงขนาดไปเขียน C นี่ก็มากเกินไป ก็อาจจะหลบมาใช้ภาษาที่เหมาะสมมากกว่าอย่าง PHP หรือ NodeJS ชีวิตก็จะสบาย

แต่คำถามคือมันจำเป็นขนาดนั้นไหมที่จะต้องใช้ให้มันเป๊ะๆ ถ้าเราเลือกทุกอย่างที่มันสุดไปหมด สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นหนึ่งโปรแกรมเขียนด้วยอีกหนึ่ง อีกโปรแกรมก็เขียนด้วยอีกอย่าง ทำสิบโปรแกรม สิบภาษา สิบ Frameworks ใครจะมาดูแลไหว

แทนที่จะไปบ้าไล่ตามแฟชั่นเทคโนโลยี บางทีลองหาจุดตรงกลาง เลือกศึกษาสิ่งที่ชาวโลกเขาใช้งานกัน เทคโนโลยีที่ดูอนาคตสดใส และถ้างานที่ทำมันพอไปไหวไม่ได้น่าเกลียดขี้เหล่ ก็ใช้ไป แบบนี้ก็จะทำให้ Technology Stack ของเราค่อนข้างนิ่ง เราเขียนได้ คนอื่นก็มีดูแลต่อได้ ได้แบบนี้ทุกคนก็ Happy

อันนี้ยกเว้นกรณีต้องการศึกษาเทคโนโลยีเพื่อเรียนรู้ไว้นะครับ การศึกษาเพิ่มเป็นเรื่องดี และดีสุดถ้าเราเอามาใช้ทำโปรเจคที่ใช้งานจริงได้ แต่ไม่ได้เหมาะที่จะเอามาใช้ในงานระดับ Production ที่มีเพื่อนในทีมเป็นอีกสิบต้องร่วมชะตากรรม

เข้าไปไปอ่าน Stack Overflow เล่นบ่อยๆ แล้วจะเก่งขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

เทคนิคการขยายกรอบความรู้อย่างหนึ่งที่มีประสิทธิภาพมาก ที่ผมค้นพบในตอนหลังนี้เมื่อเริ่มพัฒนาโปรแกรมเป็นบ้างแล้ว คือการเข้าไปอ่านเว็บ https://stackoverflow.com

คนอยู่ในวงการเขียนโปรแกรมจะต้องรู้จักเว็บนี้เป็นอย่างดีอยู่ละ เพราะค้น Google ทีใดพี่แกก็จะขึ้นมาก่อนแทบจะทุกครั้ง แถมเข้าไปแล้วก็ยังได้คำตอบทันทีอีกต่างหาก แต่ส่วนใหญ่คนจะใช้ Stack Overflow กันผิวๆ แค่นั้น

จากคำกล่าวของขงเจื้อ วิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งปัญญาที่ง่ายที่สุดคือการลอกเลียนแบบคนที่ประสบความสำเร็จ มันจะดีขนาดไหนถ้าเรารู้ว่ามีปัญหาอะไรบ้างที่เราจะต้องเจอก่อนจะเจอจริงๆ นี่ไง ไปไล่อ่าน Stack Overflow อยู่ให้เป็นนิตย์ ไปดูว่าสิ่งที่เราใช้กันอยู่ ชาวบ้านเขาเจอปัญหาเรื่องอะไรบ้าง เป็นเพราะอะไร และเขาแก้ไขกันอย่างไร เพียงเท่านี้เวลาเราทำงานจริงก็จะพร้อมสู้กับปัญหานั้นๆ แล้ว

แนวคิดของผมก็คือ อย่างน้อยไอ้พวกคำถามที่โดน Vote เยอะๆ เนี่ย มันจะต้องเป็นปัญหาที่คนเจอกันบ่อยแน่ๆ ดังนั้นเราไล่อ่านจากตรงนี้ได้เลย วิธีการก็คือ

กดเลือก tag ที่ต้องการ (เช่น python) แล้วเลือก Sorting เป็น Vote

ก็จะพบกับคำถามที่ถูกกดโหวตมากที่สุด มันคือคำถามที่คนบนโลกนี้ติดกันบ่อยที่สุดนั่นเอง และนั่นหมายความว่าเราก็มีโอกาสจะติดกับเขาด้วยเช่นกัน

เปิดแล้วก็นั่งอ่าน นั่งทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ เหมือนได้รับความรู้และประสบการณ์การเจอปัญหาจากคนอื่นที่หาในหนังสือและ Doc ไม่ได้ นี่มีคุณค่ามากๆ ในการสะสมความรู้สำหรับการเป็นโปรแกรมเมอร์มืออาชีพ

ตัวอย่างของ Python ตาม URL นี้ไปเลย https://stackoverflow.com/questions/tagged/python?sort=MostVotes (สามารถลองเปลี่ยน python เป็นภาษาอื่นๆ ดู)

วิธีนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับโปรแกรมเมอร์ที่ต้องการพัฒนาความรู้แนว Practical เอาไปใช้งานจริง เอาจริงๆ เข้าไปไล่อ่านทำความเข้าใจให้ได้สักวันละหัวข้อ ผ่านไป 1 เดือนก็ได้ 30 หัวข้อแล้ว นี่คือวิธีการ Knowledge Growth Hack ที่ผมว่าเจ๋งที่สุดละ

https://unsplash.com/photos/_yVRLC75Ma8

การเลือกบริษัทที่จะไปทำงานด้วย

เอาล่ะ หลังจากรู้ถึงวิธีการศึกษาหาความรู้แล้ว และเริ่มมีทักษะบ้างแล้ว ขึ้นต่อมาก็คือการเลือกว่าจะไปร่วมเดินทางไปกับเรือลำไหนดี การเดินทางไปเรือใหญ่ หรือเรือเล็ก ย่อมมีเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกัน ไปดูกันว่า ถ้าจะเลือกบริษัทสักแห่ง ควรคิดถึงเรื่องอะไร

อย่าถามหาความมั่นคงจากบริษัท แต่จงสร้างมันขึ้นมาจากความสามารถของตัวเอง

เลือกองค์กรให้เน้นที่เราได้เรียนรู้มากกว่าเรื่องเงิน

ความมั่นคงที่แท้จริงไม่ได้ขึ้นกับบริษัทที่คุณเข้าไปทำงานด้วย แต่มันอยู่กับทักษะความสามารถที่คุณมี
โอเค ผมเข้าใจแหละว่าเรื่องเงินนั้นสำคัญ และบางคนก็มีภาระจำเป็นต้องหาเงินเพื่อเลี้ยงดูมากกว่าแค่ตัวเอง แต่สิ่งที่ผมมองว่าสำคัญกว่าคือการได้เรียนรู้ในการทำงานที่รัก และเรื่องนี้ยิ่งสำหรับมากขึ้นไปอีกสำหรับคนที่เพิ่งเข้าวงการ คุณจะต้องทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองมีคุณค่า เป็นที่ต้องการของตลาด และวิธีการที่ผมมองว่าพอจะทำได้ง่ายที่สุดก็คือ การทำให้ตัวเองมีความสามารถนั่นเอง

วงการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นี่เป็นเส้นทางต้องพัฒนาศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะมันมีสิ่งใหม่ๆ พัฒนาขึ้นมาตลอด และเรื่องนี้เกิดขึ้นมาเป็นสิบปีแล้ว ถ้าคุณเพิ่งเริ่มจะเข้าวงการวันนี้ คุณอาจจะต้องไปศึกษาสิ่งต่างๆ ที่เคยผ่านมาแล้วจำนวนมากเพื่อที่จะเอาตัวรอดในวงการให้ได้ และนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยถ้าไม่มีพี่เลี้ยง หรือ Mentor ที่ดี

ความจริงไม่ว่าคุณจะอยู่ระดับใดของสายอาชีพใดๆ มันจะมีคนที่เก่งกว่าคุณอยู่เสมอ เมื่อเจอสิ่งที่รักแล้ว เป้าหมายของเราควรจะเป็นการพัฒนาตัวเองไปขึ้นไปเรื่อยๆ ในสิ่งนั้นๆ การมี Mentor ที่ดี จะช่วยชี้เส้นทางที่ถูกต้องให้กับคุณ ไม่จำเป็นต้องไปลองผิดลองถูกซึ่งใช้เวลานานกว่ามาก

จากประสบการณ์การรับผิดนอกสายเข้ามาทำงานมาหลายคน ถ้าเป็นคนสนใจใฝ่รู้จริง ขยันทำงาน ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีเพื่อนร่วมงานที่ดี มี Culture ที่สนับสนุนการเรียนรู้ และมี Mentor ที่ดีคอยให้คำปรึกษาเวลาออกแบบวิธีการคิดและเวลาติดปัญหาท่ายากที่ต้องใช้พื้นฐานความรู้ที่แข็งแรง จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการทำงานก่อนจะเรียกตัวเองว่า Professional Programmer ได้ และหลังจากที่มาถึงจุดนี้แล้ว ก็ไม่มีความแตกต่างอย่างใดกับคนที่จบตรงสายอีกต่อไป ณ จุดนี้ เงินจะมาหาคุณเองโดยไม่ต้องเจรจาให้มากความ และทั้งหมดที่ผมกล่าวมานั้นคือคุณสมบัติของบริษัทที่คุณควรมองหาให้ได้ จะไปสืบทราบมาด้วยวิธีการไหนก็สุดแล้วแต่

เมื่อทักษะพร้อมแล้ว เริ่มมีประสบการณ์ มีผลงานที่เกี่ยวข้อง เป็นที่ต้องการของตลาด ทีนี้ก็หายห่วงเรื่องอนาคต แล้วทีนี้คุณก็มุ่งหน้าพัฒนาตัวเองต่อไปอย่างต่อเนื่องได้เลย ผมเชื่อว่าถ้าขยันสุดๆ ภายใน 2 ปี อาจขึ้นถึงระดับ Senior Developer ได้เลยซะด้วยซ้ำ (บนเงื่อนไขที่คุณต้องทุ่มเทและมีกลยุทธ์ในการพัฒนาตัวเองที่ดีมาก)

เพราะฉะนั้นผมขอสรุปว่า สิ่งที่คุณต้องตามหาจริงๆ เลย ไม่ใช่บริษัทที่มีชื่อเสียง แต่เป็นพี่เลี้ยงที่อยู่กับบริษัทนั้น ที่เปิดใจมากพอที่จะรับคุณเข้าทำงาน และพร้อมจะให้การสนับสนุนคุณในการพัฒนาความรู้ความสามารถของคุณควบคู่ไปกับการทำงานที่มีคุณค่า

พวกงานที่ไม่ได้ง่ายๆ ไม่ได้ใช้ความคิดมาก ผมอยากให้หลีกเลี่ยง ชีวิตคุณมีเวลาจำกัด เลือกใช้เวลาไปกับสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด ถ้าคุณทำงานที่ไม่ได้เรียนรู้ คุณก็จะจมอยู่ในกับดักของการรับเงินเดือนตลอดไป

อีกอย่างที่ผมอยากจะฝากไว้ก็คือ ถ้าคุณมีเป้าหมายชีวิตอยากจะรวยล้นฟ้า ผมอยากบอกว่า คุณต้องตั้งเป้าหมายเพื่อไปเป็นผู้ประกอบการซะ คุณไม่มีวันไปถึงเป้าเงินล้นฟ้าได้จากการเป็นลูกจ้าง โอกาสมันน้อยมากๆ แต่มันยังพอมีแสงริบหรี่ มีความเป็นไปได้ถ้าคุณไปเป็นผู้ประกอบการ แต่ชีวิตคนจะเป็นคนละเรื่องกันเลย คุณจะต้องรักในสิ่งที่คุณทำสุดๆ สมองของคุณจะจดจ่ออยู่กับงานตลอดเวลา 24/7 คุณจะต้องจัดการเรื่องคนให้ได้ คุณจะต้องขายของให้เป็น คุณจะต้องไม่เกี่ยงงานเพราะมันคือธุรกิจของคุณ และสำคัญที่สุดคือ คุณจะต้องดีลกับอารมณ์ของตัวเองในสถาการณ์ต่างๆ ให้ได้ มันเป็นเส้นทางที่โหดร้าย แต่ก็เหมาะสำหรับคนบางประเภทที่ชอบความท้าทาย ชอบเผชิญความยากลำบาก อันนี้ต้องลองดูว่าปักธงชีวิตตัวเองเอาไว้ที่จุดไหน

ถ้าคุณเป็นคนไม่อยากเหนื่อย แต่อยากรวย ผมมองให้คุณไปทบทวนตรรกะการคิดให้ดีว่า มันสมเหตุสมผลหรือไม่ อยากให้ลองทบทวนและปรับวิธีการคิดให้ดี ผมคงไม่กล้าฟันธงว่ามันเป็นไปไม่ได้และมันดีหรือไม่ดี มันอยู่กับคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ของแต่ละคน แต่การจะรวยโดยไม่ทำงานหนักผมเห็นอยู่เคสเดียวคือการเกิดเป็นลูกคนรวย

ถ้าเงินเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดขอบคุณจริงๆ คุณคงไม่ยอมเอามันไปแลกกับสิ่งอื่นที่สำคัญน้อยกว่า


หาบริษัทที่ดูคนลึกไปมากกว่าใบปริญญา

เรื่องต่อจะมีความสอดคล้องกับหัวข้อก่อนหน้า นั่นคือ หาบริษัทที่มองคนมากกว่าแค่ใบปริญญา ส่วนตัวผมไม่รู้เหมือนกันนะว่ามันเกิดบ้าอะไรขึ้นกับสังคมของเรา ทำไมผู้คนถึงตัดสินกันด้วยใบปริญญา นี่เป็นเพราะความขี้เกียจของผู้รับสมัคร หรือการขาดความรู้ที่แท้จริงในสายงานของตัวเองจนไม่สามารถตั้งคำถามที่ดีมากพอ ที่จะใช้วัดความรู้ความสามารถ ความเหมาะสมของผู้มาสมัครได้ จึงต้องฝากภาระการรับคัดเลือกคนเข้าทำงานไว้กับใบประกาศที่ทางมหาวิทยาลัยออกให้

ผมไม่ได้บอกว่าการมีปริญญาหรือการเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นเปล่าประโยชน์ ความจริงมันดีมากเลยแหละ โดยเฉพาะถ้าคุณมุ่งหน้าทำวิจัย เก็บประสบการณ์การทำงานจริง เพียงแต่ว่า norm ของการจบที่เห็น มันไม่สามารถใช้วัดคุณภาพของคนได้ดีมากพอ มหาวิทยาลัยมีหลากหลายระดับ การที่จะตัดสินว่าคนหนึ่งจบจากมหาลัยระดับสูงสุด จะต้องเป็นคนเก่งสุดๆ แน่นอน เพราะมันการันตีชื่อเสียง หรือถ้าจบจาก ม. ที่ชื่อเสียงไม่ดี แล้วจะต้องแย่แน่นอน ผมว่ามันไม่แฟร์ ความจริงคือมันไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป มันเป็นเรื่องของสัดส่วน ในกลุ่มคนเก่งมีคนอ่อน ในกลุ่มคนอ่อนมีคนเก่ง มันเป็นแบบนี้เสมอ ผมหาเหตุผลอื่นไม่ได้เลยที่จะตัดสินคนจากมหาวิทยาลัยที่จบมานอกจากความขี้เกียจ

ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น ในสาขาคอมพิวเตอร์ที่ความรู้กว้างออกไปอย่างรวดเร็ว ช่วงเวลา 4 ปีที่คุณเรียนในมหาวิทยาลัย อาจจะมีเทคโนโลยีตัวหนึ่งเกิดขึ้นมา แล้วมันก็อาจจะดับไปเรียบร้อยแล้วก็ได้ ไม่มีทางหรอกครับที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะตามอัพเดทความรู้ทัน ขนาดผมที่อยู่ในวงการ อ่านข่าวตลอด และมีน้องๆ จากทุกฝั่งคอยช่วยการอัพเดทความรู้ให้ด้วย ยังไม่ทันเลย ทางเดียวที่จะรอดได้คือคุณต้องเลือกสิ่งที่ต้องการเป็น ศึกษาหาความรู้ และลงมือทำอย่างจริงจัง

ผมเชื่อมั่นอย่างมากว่า ทุกบริษัทที่ทีม Technology มีคุณภาพมากพอ ไม่มองคนจากแค่ใบปริญญา เพราะเรารู้ว่ามันวัดคนไม่ได้จริง นอกเสียจากว่ามีผู้สมัครเข้าไปล้มหลามจนคัดเลือกไม่ไหวจริงๆ

ดังนั้นสำหรับคนที่จบไม่ตรงสาย หรือเรียนอยู่กำลังจะจบ หรือไม่ได้เรียนระดับอุดมศึกษาเลยเสียด้วยซ้ำ ถ้าคุณมาสมัครในบริษัทไอทีที่มีคุณภาพจริงๆ ผมอยากบอกว่าคุณจะถูกประเมินไม่ต่างจากคนที่เรียนจบใหม่มาตรงสายเลย สิ่งที่เรามองหาจากคุณคือ Passion ในการเป็นนักคอมพิวเตอร์ที่ดี ความทุ่มเท ความอดทน ความสามารถในการเรียนรู้ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ความสามารถในการทำงานเป็นเป็นทีม คุณต้องทำยังไงก็ได้ให้เราเห็นถึงสิ่งเหล่านี้ในตัวคุณ

ถ้ามีอาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยกำลังอ่านอยู่ ผมก็ต้องขอโทษไว้ด้วยนะครับ ผมเชื่อว่าด้วยจิตวิญญาณของผู้เป็นอาจารย์ก็ย่อมพยายามปั้นลูกศิษย์อย่างเต็มความสามารถอยู่แล้ว และอาจารย์หลายๆ ท่านก็ทุ่มเทอย่างสุดตัวมากจริงๆ ผมเคารพอาจารย์กลุ่มนี้มากๆ และโดยลึกแล้วถ้ามีโอกาสผมเองก็อยากไปเป็นอาจารย์เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ให้ชนรุ่นหลังเช่นกัน ซึ่งการจะไปเป็นอาจารย์เดี๋ยวนี้ก็ต้องมีวุฒิฯ ป.เอก ด้วยอะนะ ซึ่งผมเองก็ยังไม่มี 😂

ที่กล่าวไปข้างต้นนี้คือ Feedback จากผู้ประกอบการที่ลงมาดูแลทีมงานอย่างใกล้ชิดด้วยตัวเอง ผมสัมภาษณ์คนเข้าทำงานด้วยตัวเองเฉลี่ยแล้วอย่างน้อยสิบคนก่อนจะปิ๊งได้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติขั้นต่ำที่ตั้งเอาไว้สักคนหนึ่ง ที่มันน่าเจ็บใจคือคนที่ไม่ผ่านส่วนใหญ่ดันมีคุณสมบัติหลายอย่างที่ไม่พึงจะได้พบเจอถ้าดูจากสโลแกนของมหาวิทยาลัยแล้ว ผมเองก็เข้าใจถึงข้อจำกัด และเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น มันไม่มีใครผิดหรอก แต่ในเมื่อเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นแล้ว คนที่ต้องเหนื่อยหน่อยก็คือบริษัท คนที่เสียชื่อเสียงอาจารย์และมหาวิทยาลัย และคนที่ต้องรับเคราะห์ก็คือพวกน้องๆ ที่เรียนจบออกมา

ผมอยากฝากให้อาจารย์หาโอกาสพาน้องๆ ออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัยไปดูโลกภายนอกบ้าง ออกไปแข่งเจอเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยบ้าง ออกมาว่าเมื่อคุณออกมาทำงานคุณจะต้องเจออะไรบ้าง กดดัน ยากลำบาก หรือคลื่นเคลงขนาดไหน จะได้เตรียมตัวเอาไว้ให้ดีแต่เนิ่นๆ ก่อนจะออกมาเจอกับโลกความเป็นจริง และหวังว่าน้องๆ ที่อ่านอยู่จะรีบทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือตัวเองด้วยเช่นกัน

ทักษะการเขียนโปรแกรมพัฒนากันได้ไม่ยาก แต่ทัศนคติที่ดีในการทำงานต่างหากที่พัฒนาได้ยากยิ่ง และเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการมองหามากที่สุด


https://unsplash.com/photos/OxXmASDLFjY

หางานยังไงให้ได้งาน

มาถึงหัวข้อสุดท้ายแล้ว ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นหัวข้อที่น่าจะเป็นที่อยากรู้กันมากที่สุด นั่นก็คือ จะหางานยังไงให้ได้งานทำสมใจ ซึ่งผมเองก็มีประสบการณ์รับคน สัมภาษณ์คนเข้าทำงานมาพอสมควร ที่จะมาเล่านี้ก็จะเป็นมุมมองส่วนตัวจากประสบการณ์ส่วนตัว ก็ลองพิจารณากันดูนะครับว่ายังไง อาจจะไม่สามารถใช้ได้กับทุกที่ แต่ใช้ได้กับที่ผมสัมภาษณ์เองได้แน่นอน 555

การหางานทำ ผมมองว่ามันก็คล้ายๆ กับการหาคู่ ทั้งฝั่งผู้สมัคร ทั้งผู้รับสมัคร มันต้อง win-win กันทั้งสองฝ่าย มันต้องแบบนี้ถึงจะ Happy Ending

ผู้ประกอบการมองหาอะไร?

นี่คือสิ่งแรกที่ผู้สมัครจะต้องถอดออกมาให้ได้ว่า บริษัทที่เรากำลังไปสมัคร เขากำลังมองหาใคร และจะต้องมีคุณสมบัติแบบไหน แล้วเราจะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วมันไม่มีใครที่จะดีพร้อมตามที่ต้องการไปซะทุกอย่างหรอก แต่เราก็ต้องพร้อมพัฒนาตัวเองไปให้ถึงจุดนั้น และนั่นก็คือเรื่องแรกที่เรากำลังมองหา นั่นก็คือ..

ความอดทน ความสามารถในการพัฒนาตัวเอง มันไม่สำคัญหรอกว่าวันนี้คุณเป็นใคร มันสำคัญว่าคุณต้องการจะเป็นใคร คุณจะทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้นได้ และคุณลงมือทำไปจนถึงได้จริงๆ บางครั้งการสมัครเข้าทำงานดูเหมือนแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่มันก็เป็นไปได้มาแล้วนักต่อนัก เพราะผู้รับสมัครดูถึงทักษะของการรู้จักตัวเองของผู้สมัครและความสามารถในการพัฒนาต่อยอดทักษะของตัวเอง หรือถ้าจะให้พูดอีกอย่างนึงก็คือ ทักษะในการเรียนรู้ที่จะเรียนรู้นั่นเอง คนใดที่มีทักษะนี้ย่อมเป็นผู้ไม่มีวันจนปัญญา

ความสนใจในเนื้องานและภารกิจของบริษัท นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก จะทำงานที่บริษัทไหน คุณก็ควรต้องรู้สึกอินกับโจทย์ที่บริษัทนั้นแก้ปัญหาด้วย เวลาไปทำงานก็จะได้มีความฮึกเหิม หรือไม่ถ้าไม่อินก็ต้องห้ามเห็นตรงกันข้าม ถ้าเห็นว่าสิ่งที่บริษัททำนั้นมันผิดจากศรัทธาการดำรงชีวิตของเรา แล้วฝืนเข้าไปทำ คุณก็จะรู้สึกแย่ในชั่วทุกขณะที่ทำงาน

การทำงานเป็นทีม มีวิถีการทำงานที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมขององค์กร เรื่องวัฒนธรรมขององค์กรนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ สำหรับผมคือสำคัญที่สุด แต่ละที่ก็จะมีวิถีการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป ความจริงมันไม่ได้มีที่ไหนถูกที่ไหนผิด มันอยู่กับความพอใจของผู้นำและคนส่วนใหญ่ภายในทีม บางคนชอบการทำงานแบบเป็นระบบแบบแผน มีผังโครงสร้างที่ชัดเจน รับผิดชอบเฉพาะสิ่งที่ตัวเองต้องทำ ก็ควรไปอยู่องค์กรขนาดใหญ่ บางคนอาจจะชอบอิสระ ชอบการผจญภัย รับความเสี่ยงได้ อยากทดลองทำอะไรหลายๆ อย่าง ก็อาจจะเหมาะกับองค์กรขนาดเล็กมากกว่า นอกจากนั้นยังมีเรื่องของนิสัยใจคอของคนภายในทีมด้วย อันนี้ก็จะได้รับการประเมินตอนสัมภาษณ์

ถ้าคุณรู้สึกว่าบริษัทที่กำลังสมัครอยู่ มันใช่มากๆ สำหรับคุณ ก็อย่าลืมแสดงความทะเยอทะยานในการต้องการเข้าร่วมทีมออกมาให้มาก ทำให้เขาเห็นว่าคุณมีพลังมากเพียงใด ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสได้อย่างมากเลยทีเดียว

ยังมี Attributes อีกหลายอย่างที่ผมไม่ได้กล่าวไปตรงๆ ในข้างบน แต่ก็ถูกสอดแทรกไว้ในนั้นอยู่แล้ว ผมตั้งใจจะไม่เขียนลงไปทั้งหมดก็เพราะว่า ความจริงแต่ละที่มันก็ไม่เหมือนกัน ไม่อยากจะชี้นำให้มากจนเกินไป คุณเองต่างหากที่จะต้องสำรวจดูว่า ถ้าฉันเป็นหัวหน้างาน ฉันอยากจะได้ลูกน้องแบบไหน และคุณทำได้อย่างที่ความคาดหวังของตัวเองคาดหวังเอาไว้หรือไม่ แล้วจะต้องพัฒนาอะไรเพิ่มเข้าไปอีก


ขั้นตอนการสมัครเข้าทำงาน

โดยปรกติแล้ว มันจะเริ่มจากผู้รับสมัครไปประกาศเปิดรับผู้ร่วมงานตามตำแหน่งที่ตนต้องการ

จากนั้นผู้สมัครงานก็ไปตามดูประกาศมองหาตำแหน่งที่ตัวเองสนใจ ทีนี้มันจะต้องมองกลับมาที่ตัวเราให้ดีว่า เราคือใคร มองหางานแบบไหนอยู่กันแน่ และคาดการณ์ว่าบริษัทอยากได้คนแบบไหน เรามีคุณสมบัติตรงกับที่เขาต้องการหรือไม่ ถ้ายังตอบคำถามพวกนี้ไม่ได้ ควรจะไปค้นหาตัวเองให้เจอก่อน แต่ถ้าตอบคำถามแล้วว่าใช่ ก็อย่ารอช้า ลงมือส่งใบสมัครไปเลย ไม่ต้องกลัว หน้าที่การสมัครเป็นของเรา ส่วนหน้าที่การปฏิเสธเป็นของบริษัท ถ้าไม่ถูกใจเดี๋ยวเขาก็ปฏิเสธมาเองแหละ

เรื่องการส่ง Resume เรื่องนี้เป็น Basic ที่มีคนสอนมีคนแนะนำมามากแล้ว คงไม่แนะนำในที่นี้ แต่ส่วนประกอบที่อาจจะผิดแปลกจากคนทั่วไปเสียหน่อยแต่ผมอยากจะเห็นก็คือ คุณทำอะไรเป็นบ้าง แล้วเคยมีประสบการณ์ทำอะไรสำเร็จมาบ้าง แล้วงานที่ทำสำเร็จมานั้น มันเริ่มต้นอย่างไร และความสำเร็จมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่ผมอยากเห็นใน Resume มากเสียยิ่งกว่าจบมาจากที่ไหน ได้เกรดอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่แยแสเลย

จากนั้นเมื่อส่งใบสมัครมา ถ้าเข้าตาก็จะมีการส่งตอบกลับไปเพื่อสัมภาษณ์ทาง Con Call เพื่อทำความรู้จักเบื้องต้น และจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง คุณเดินทางมาก็เสียเวลาคุณ ส่วนผมก็เปลืองห้องประชุม ดังนั้นรอบแรกผมจะ Con Call แล้วก็เอาโจทย์ไปทำมาเลย

โจทย์ที่ได้ไปทำอะไรมองว่าง่าย มักจะมีกับดัก มีขี้ซ่อนเอาไว้อยู่ เพื่อวัดความละเอียด ส่วนอะไรที่ยาก เราตั้งขึ้นมาก็เพื่อวัดวิธีการหาความรู้ แล้วจะมีข้อที่เขียนลงไปไม่ละเอียด นั่นก็เพื่อวัด Common Sense ของผู้สมัคร อยากเห็นแนวโจทย์ไปตามอ่านได้ที่นี่ https://www.spicydog.org/blog/credit-ok-data-engineer-challenge-1/

หลังจากทำโจทย์เสร็จ ก็ให้ส่งกลับมาตามช่องทางที่ได้แจ้งไป ผมก็จะหาเวลาตรวจ ปรกติก็วันเดียว แต่ถ้าช่วงไหนยุ่งๆ ก็อาจต้องรอหลายวันหน่อย

หลังจากตรวจเสร็จ ไม่ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ผมจะเรียกมาด่า เอ้ย ไม่ใช่ เรียกมา feedback ว่าสิ่งที่ผู้สมัครทำมา ผมมีความคิดเห็นว่าอย่างไร และความรู้สึกของผู้สมัครเป็นอย่างไรหลังจากทำโจทย์นี้ เพราะนี่คือสิ่งที่คุณจะเจอในการทำงานจริง ถ้ารู้สึกไม่สนุก ไม่ท้าทาย ไม่อยากทำต่อ เราก็ควรแยกย้ายกันที่ตรงนี้ แต่ถ้ามันว่าชอบ ก็เอาไปทำอีกข้อ

ทำอีกข้อเสร็จก็ส่งกลับมา ผมก็จะตรวจพร้อมให้ Feedback เหมือนเคย หลังจากนี้ก็ต้องรอคอยผู้สมัครคนอื่นๆ หน่อย อาจจะหลักสัปดาห์ จะเร็วจะช้าขึ้นอยู่กับผู้สมัครคนอื่นๆ ด้วย จากนั้นจึงมีสัมภาษณ์รอบสุดท้าย

การสัมภาษณ์รอบสุดท้ายนี้ก็เพื่อวัดความเข้ากันได้ในการร่วมงานกับทีม และคลายข้อสงสัยที่ผมยังมีในตัวผู้สมัครอยู่ ซึ่งจากที่ผ่านมาผมพบว่าโอเคทั้งนั้นแหละ เพราะว่าผ่านโจทย์บ้าๆ นั่นมาได้ก็น่าจะใจสู้และทุ่มเทมามากพอ โดยผมจะทำการเรียงลำดับจากคะแนนในการแก้โจทย์ของเรา ถ้าคนแรกไม่เอา ก็จะเป็นโอกาสของคนต่อๆ ไป ซึ่งที่ผ่านมา โอกาสที่จะทำให้เราต้องแยกทางกันจะเป็นเรื่อง คู่แข่งของคุณทำโจทย์ออกมาได้เด็ดกว่า หรือไม่ก็ผมเกิดตากระตุกเจอสัญญาณไม่ดีขึ้นมาในตอนสัมภาษณ์รอบสุดท้าย

ความจริงแล้ว และส่วนใหญ่สำหรับผม ผู้สมัครที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมงานจริง มักจะไม่ได้เป็นคนที่เก่งที่สุดใน Batch นั้น แต่เวลาผมเข้าไปคุยด้วยแล้วได้รับความรู้สึกประมาณว่า คนนี้เหมาะกับทีมดีนะ ถ้าเข้ามาร่วมงานกันแล้วจะช่วยส่งเสริมผลงานในทีม แล้วคนในทีมไม่น่าจะมีปัญหาในการเข้ากันได้กับเขา และที่สำคัญที่สุดคือจะไม่ทำให้ Culture ในทีมของเราเสีย

ช่วงหลังมานี้ผมเข้มขึ้นมาก โดยจะไม่รับคนที่ผมไม่แน่ใจ แค่เกิดตากระตุก มีความรู้สึกไม่มั่นใจขึ้นมาแม้แต่น้อยก็จะตั้งคำถามเพื่อวัดความ Match กันไปเลยตรงนั้น มันไม่มีประโยชน์ที่จะเอาเขามาทรมานในบริษัทของเรา เช่นเดียวกันเราก็ไม่ควรจะทรมานตัวเองเช่นกัน จากประสบการณ์ไม่มีอะไรแย่ไปกว่าการเข้าผู้ร่วมงานที่มีความเชื่อในการทำงานที่ไม่ตรงกัน

ถ้ารอดจากตรงนี้ไปได้ก็คือผ่านแล้ว ล่าสุดผมรับคนที่ย้ายสายที่ไม่เกี่ยวกับคอมเลยเข้ามาทำงานด้วยกัน ความรู้พื้นฐานไม่ดี ยังไม่พร้อมลุยงานจริง แต่ผมมั่นใจมากใน Attitude จึงตัดสินใจรับเข้ามา หนึ่งเดือนก่อนเริ่มงานผมพาปูพื้นฐานทักษะการทำงานที่จำเป็นทั้งหมด ผมให้โจทย์ เราพูดคุย Feedback กันทุกวันตอนกลางคืนวันละชั่วโมง บางวันเบา บางวันแรง วัดความมุ่งมั่น วัดความอดทน สุดท้ายผู้สมัครก็เข้าร่วมทีมกับเราในสภาพพร้อมลุย และนี่คือสิ่งที่ผมบอกว่า ทักษะคอมพิวเตอร์มันฝึกกันได้ แปบเดียวแหละ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ Attitude ต่างหาก

ส่วนตัวแล้ว เมื่อผมเจอคนที่รู้สึกว่าใช่ จะทุ่มเทเหนื่อยยากขนาดไหนเพื่อให้เขาเก่งขึ้น ผมยอมทุ่มเทด้วยนะ ตราบใดที่เขายังสู้ ผมก็จะสู้ไปกับเขาแน่นอน อยากได้เพชรเม็ดงามต้องเจียรนัย เรื่องนี้เกิดกับทุกคนในทีมงานของเรา ใครอยากศึกษา อยากเรียนรู้อะไร ขอให้บอก ผมพร้อมทุ่มเท แนะนำ ส่งเสริมให้ทุกคนได้เติบโต ความรู้ของบุคคลากรก็คือ asset ของบริษัทชนิดหนึ่ง มันเป็น asset ที่ยิ่งวันมีแต่จะยิ่งเพิ่มขึ้นถ้าผู้นำใส่ใจจะพัฒนาทรัพยากรบุคคล


https://unsplash.com/photos/KJBVIwYRkTE

ก่อนจะจากกัน..

ผมอยากย้ำให้ทุกคนมั่นใจอีกครั้งว่า คนเราจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นแหละ และจะทำมันได้ดีด้วยถ้าคุณทุ่มเทมากพอ คุณจะทนทุ่มเทจนถึงจุดสุดยอดได้ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นคือสิ่งที่คุณทำมันด้วยใจรักจริงๆ ดังนั้นจะต้องเริ่มจากการสำรวจตัวเองให้ดีให้เราชอบทำอะไร แล้วก็เจาะลึก ฝึกฝน ทำสิ่งนั้นๆ ให้เชี่ยวชาญ

สำหรับคนนอกสายงานที่กำลังหางานอยู่ ก็ลองพิจารณาสิ่งที่ผมได้เขียนให้อ่านกันไปทั้งหมดข้างบนนั้นว่า จะเอาไปประยุกต์ใช้งานกับชีวิตของตนได้อย่างไร ถ้าคุณรักคอมพิวเตอร์จริงๆ ก็ขอให้คุณทุ่มเทกับมันให้สุด อย่าปิดโอกาสตัวเองด้วยกรอบความคิดว่าฉันไม่ได้จบตรงสายมา มันคงเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะย้ายสายงาน

สุดท้ายท่านผู้อ่านท่านใดมีข้อสงสัย มีสิ่งใดอย่างแนะนำ หรืออยากได้คำปรึกษา ก็สามารถพูดคุยกันต่อได้ที่ช่อง Comment ข้างล่างนะครับ ถ้าเห็นว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์ ก็อย่าลืมส่งมอบมันให้กับผู้ที่อาจจะต้องการคำแนะนำนี้อยู่ ผมขอให้ทุกคนสำเร็จสมหวังกับการมาทำงานสายคอมพิวเตอร์กันทุกคนนะครับ ขอให้โชคดี สวัสดีครับ..

Tags: , , , ,